Lifestyle

"การหาว" ผิดปกติ คือ ? หาวบ่อย โดยไม่ง่วง เป็นสัญญาณเตือน โรคร้าย จริงหรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"การหาว" ผิดปกติ คืออะไร ? หากมีอาการ หาวบ่อย โดยที่ไม่รู้สึกง่วง เป็นสัญญาณเตือนของ โรคร้าย จริงหรือไม่ อาการแบบไหน ควรพบแพทย์

"การหาว" ปฏิกิริยาที่ร่างกายมีการอ้าปากและสูดหายใจเข้าลึก ซึ่งอาจถูกกระตุ้นด้วยความเหนื่อย ความง่วง หรือ เมื่อยล้า การต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นของร่างกาย "การหาว" อาจเกิดได้จากการพูดถึง หรือ การเห็นผู้อื่นหาว มีแนวคิดว่าที่มนุษย์หาวตามๆ กัน (contagious yawn) อาจเป็นการสื่อสารทางสังคมของมนุษย์ชนิดหนึ่ง สำหรับ อาการหาว ที่มากผิดปกติ คือ มี "การหาว" มากกว่าหนึ่งครั้งในหนึ่งนาที ซึ่งอาจเกิดจาก ความง่วง หรืออาจถูกกระตุ้นจากโรคหรือภาวะต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายก็เป็นได้ ซึ่งครั้งนี้ ได้รวบรวมมาให้แล้ว

 

หาวบ่อย เกิดจากอะไร สาเหตุของ "การหาว" มากผิดปกติ

 

ความง่วง เหนื่อยล้าจากการ นอนหลับ ไม่เพียงพอ 

 

- การ นอนหลับ ไม่เพียงพอนั้นสามารถเกิดได้จากระยะเวลาการนอนหลับที่สั้นเกินไป หรืออาจเกิดจากการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ความเครียด ความกังวล หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะที่นอนหลับ อาจเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้ในอนาคต การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถส่งผลอื่นๆ ต่อร่างกายได้ เช่น ไม่มีสมาธิ ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ช้า รู้สึกอยู่ไม่สุข เซื่องซึม ไม่ต้องการทำอะไร หรือเหนื่อยเพลีย ปวดเมื่อยร่างกาย หากสงสัยว่าตนมีภาวะนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทดสอบการนอนหลับ (sleep test) 

 

ผลข้างเคียงจากยา เช่น กลุ่มยานอนหลับ ยาช่วยคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้ปวดบางชนิด

 

ยา

 

"การหาว" มากผิดปกติยังอาจเกิดจากโรคทางกายอื่นๆ ได้ เช่น

 

- ภาวะเลือดออกบริเวณในหรือรอบๆ หัวใจ หรือ โรคหัวใจ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ มักมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ปวดร้าวไปแขนหรือคอ หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ วิงเวียน หน้ามืด 

- มะเร็ง หรือก้อนเนื้อในสมอง เกิดการกดเบียดทำให้เนื้อสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงต้องการ "การหาว" เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ชาหรืออ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปัญหาด้านการมองเห็น ปัญหาด้านความจำ เป็นต้น 

- โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เนื้อสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเช่นกัน จะมีอาการชา อ่อนแรง ใบหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ มีการมองเห็นผิดปกติ หรือวิงเวียนร่วมด้วย 

- โรคลมชัก เกิดการนำกระแสประสาทผิดปกติในหลายส่วนหรือทั้งหมดของ สมอง ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ในบางครั้งกระแสประสาทผิดปกตินี้เกิดในสมองส่วนที่ควบคุมการหาว จึงทำให้เกิดการหาวที่ผิดปกติร่วมด้วยได้ 

- โรคปลอกประสาทอักเสบ (multiple sclerosis) ทำให้เส้นประสาทในส่วนต่างๆ ของร่างกายเสียหาย ไม่สามารถควบคุมร่างกายบางส่วนได้ หรืออาจเกิดจากความเหนื่อยเพลียและควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ได้ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยปลอกประสาทอักเสบ โดยผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยเพลียมากผิดปกติ ชาหรือรู้สึกเหมือนเข็มทิ่มที่ลำตัว ใบหน้า แขน ขา การมองเห็นผิดปกติ วิงเวียน เดินหรือทรงตัวลำบาก เป็นต้น 

- ภาวะตับวาย มักพบในรายที่อาการรุนแรงเนื่องจากจะทำให้อ่อนเพลีย มีปัญหาในการนอนหลับ ผู้ป่วยอาจมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว สับสน รู้สึกง่วงมากในช่วงกลางวัน บวมตามลำตัวหรือแขน ขา 

- ภาวะร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าการหาวเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายใช้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ หากร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ เช่น มีโรคประจำตัวบางชนิด การใช้ยาบางชนิด ในผู้สูงอายุ อาจเกิดการหาวผิดปกติเพื่อเป็นการช่วยในการควบคุมอุณหภูมิกายอีกวิธีหนึ่ง 

 

การสังเกตตนเองและปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสามารถช่วยวินิจฉัยและรักษาภาวะทางกายต่างๆ เหล่านี้ได้ 

 

การหาว

 

วิธีแก้ไข อาการหาว บ่อยผิดปกติเบื้องต้น ด้วยตนเอง

 

หากมี อาการหาว ผิดปกติ อาจลองแก้ไขด้วยตนเองได้ดังนี้ 

 

- หายใจลึกๆ จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกาย สามารถลดการหาวได้ในผู้ที่การหาวเกิดจากร่างกายต้องการออกซิเจน หรือในกรณีหาวติดต่อกับผู้อื่น (contagious yawn) 

- เคลื่อนไหว ขยับร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายสามารถกระตุ้นระบบประสาทและสมองได้ สามารถลดการหาวในผู้ที่การหาวเกิดจากความเหนื่อยล้า เบื่อ หรือ ความเครียด ได้ 

- เพิ่มความเย็นในร่างกาย เช่น การเดินไปยังบริเวณที่อากาศเย็นและถ่ายเท ดื่มน้ำเย็น หรือกินอาหารว่างเย็นๆ เช่น ผลไม้แช่เย็น

 

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์

 

ควรพบและปรึกษาแพทย์เมื่อมี "การหาว" บ่อยมากกว่าปกติและมีอาการอื่นที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาการทางกายที่ผิดปกติอื่นๆ

 

การรักษา อาการหาว บ่อย

 

เนื่องจาก "การหาว" ผิดปกติเกิดได้จากหลายสาเหตุ การรักษาจึงเน้นการรักษาที่ต้นเหตุ เช่น 

 

- "การหาว" ที่เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือความเหนื่อยล้า สามารถใช้วิตามินเสริมช่วยลดความเหนื่อยล้าได้ ในผู้ที่ขาดวิตามิน 

- "การหาว" ผิดปกติที่เกิดจากปัญหาด้านการนอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับอาจแนะนำแนวทางเพื่อ การนอนหลับ ที่ดีขึ้น เช่น การเข้านอนเป็นเวลาเดิมในทุกๆ คืน การใช้อุปกรณ์ช่วยการหายใจขณะ นอนหลับ การออกกำลังเพื่อลดความเครียด หรือการใช้ยาในรายที่จำเป็น เป็นต้น 

- "การหาว" ผิดปกติที่เกิดจากยา แพทย์จะพิจารณาลดขนาดยาลงหรือหยุดยาที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรปรับหรือหยุดยาด้วยตนเอง 

- "การหาว" ที่เกิดจากโรคทางกายอื่นๆ เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะแนะนำการรักษาที่ตัวโรค ซึ่งจะทำให้ อาการหาว ผิดปกติดีขึ้นได้

 

อาการหาว

 

ข้อมูล : โรงพยาบาลสมิติเวช

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ