Lifestyle

รู้จัก "โรคลมหลับ" ภัยเงียบ จากการ นอนหลับ อันตราย ตายได้ไม่รู้ตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ผีอำ" ไม่ได้แปลว่า ผีหลอก แต่เกิดจาก "โรคลมหลับ" ภัยเงียบ จากการ นอนหลับ อันตราย ตายได้ไม่รู้ตัว นั่งก็หลับ กินก็หลับ เกิดจากอะไร

(29 ต.ค.2565) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า "โรคลมหลับ" หรือ Narcolepsy เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักจะมีอาการง่วงมากในตอนกลางวัน แม้ว่าตอนกลางคืนจะนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอและบางครั้งพบว่า มีการนอนหลับเกิดขึ้น ในสถานการณ์ไม่เหมาะสม เช่น เกิดขึ้นขณะพูดคุยกับบุคคลอื่น ขณะรับประทานอาหาร ทำงาน เรียน เล่นเกมส์ หรือ ขับรถ จนอาจเกิดอันตรายได้ และบางครั้งเหมือนอาการ ผีอำ

อาการของ โรคลมหลับ

 

  1. ง่วงนอนมากผิดปกติ มักเป็นอาการแรกของผู้ป่วยโรคนี้ ผู้ป่วยจะหลับในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ในห้องเรียน หลังอาหาร โรงภาพยนตร์ ขณะเขียนหนังสือ หรือแม้แต่ขณะกำลังสนทนา การนอนช่วงสั้นๆจะช่วยให้ สดชื่นขึ้นได้
  2. Cataplexy (ผลอยหลับ คือมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก เวลาที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เป็นต้น)
  3. Sleep paralysis (ผีอำ) เป็นภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น (คล้ายผีอำ) เป็นอาการที่ น่าตกใจแต่ไม่อันตราย
  4. Hypnagogic hallucination (เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ) เห็นภาพหลอนขณะที่กำลังจะหลับ โดยอาจเห็นเป็นสัตว์ประหลาดหรือสิ่งที่น่ากลัวต่าง ๆ ได้

 

อาการอื่น ๆ ของ โรคลมหลับ

 

  • พฤติกรรมที่ทำโดยไม่รู้สึกตัว ขณะหลับอาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น ขับรถ ทำอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
  • นอนไม่หลับในเวลากลางคืน สมองควบคุมการหลับตื่นผิดปกติทำให้นอนไม่หลับตอนกลาง คืนได้
  • ไม่มีสมาธิ
  • ปวดศีรษะ
  • ขี้ลืม
  • ซึมเศร้า

โรคลมหลับ

สาเหตุของโรคลมหลับ

 

สำหรับสาเหตุของโรค ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่ชื่อ โอเร็กซิน (Orexin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการตื่นของร่างกาย ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สารเคมีชนิดนี้ลดลง ส่งผลให้มีอาการหลับง่ายกว่าปกติ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติด้านการนอนหลับ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้

 

 

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการแสดงที่สำคัญนอกจากจะมีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติตอนกลางวันแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ภาวะผีอำ หรือ sleep paralysis โดยที่ไม่สามารถขยับตัวได้ตอนที่กำลังใกล้จะตื่น และมีอาการเห็นภาพหลอนตอนขณะเคลิ้มหลับ

 

โรคลมหลับ

 

การวินิจฉัยโรคลมหลับ

 

แพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการสอบถามประวัติโรคประจำตัว และยาที่ใช้เป็นประจำ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคลมหลับ ในรายที่แพทย์สงสัยอาการเข้าได้กับโรคนี้ จะให้ผู้ป่วยบันทึกการนอนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และส่งตรวจการนอนหลับ (polysomnogram) ร่วมกับการตรวจความง่วงนอน (multiple sleep latency test) 

 

การรักษาโรคลมหลับ

 

ในปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการไม่ให้รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ด้วยการใช้ยากระตุ้นเพื่อให้รู้สึกตื่นตัว ซึ่งการใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการจัดตารางเวลาในการนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7- 8 ชั่วโมง เพิ่มการงีบหลับสั้น ๆ ในช่วงกลางวันเพื่อลดความง่วงที่เกิดขึ้น ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายหากเกิดอาการได้แก่ การขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักร ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันได้ ทางออกที่ดีคือ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ