Lifestyle

"โรคหลอดเลือดสมอง" วัยไหน ก็เป็นได้ เปิดสัญญาณเสี่ยง รู้ทันป้องกัน อัมพาต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โรคหลอดเลือดสมอง" stroke สาเหตุการ ตาย และ พิการ อันดับต้นของไทย วัยไหน ก็เป็นได้ เปิดสัญญาณเสี่ยง รู้ทัน ป้องกัน "อัมพาต"

วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization : WSO) ได้กำหนดให้เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก หรือ วันอัมพาตโลก ซึ่ง "โรคหลอดเลือดสมอง" หรือ stroke เป็นสาเหตุการตาย เป็นอันดับสอง และพิการเป็นอันดับสามของคนทั่วโลก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิต และความพิการลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ใครจะรู้ว่า วันหนึ่งอาจเป็นเรา ที่นั่งทำงานอยู่ดี ๆ อาจเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง หรือปวดศรีษะอย่างรุนแรง จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากอะไร หากรู้เท่าทัน อาจป้องกันอัมพาตได้

 

 

 

 

 

 

 

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร

 

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

 

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจ
  • โรคอ้วน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • บริโภคอาหารไม่เหมาะสม
  • สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โรคหลอดเลือดสมอง

สาเหตุภาวะผิดปกติของโรคหลอดเลือดในสมอง

 

โรคหรือภาวะหลอดเลือดในสมองผิดปกติ พบได้ตั้งแต่อายุ 20, 30, 40 ปี ไปจนถึงวัยกลางคน ไปจนถึงผู้สูงอายุ สาเหตุรูปแบบของการผิดปกติ มีความแตกต่างกันหลายรูปแบบ ดังนี้

 

  • ในกลุ่มคนอายุน้อย อาจจะเป็นลักษณะของความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นความผิดปกติของระดับพันธุกรรมที่ให้หลอดเลือดในสมองผิดปกติเกิดเป็นปาน เกิดมีการต่อกันของหลอดเลือดผิดปกติ
  • ในวัยกลางคน มักจะเกิดจากการใช้ชีวิต สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่สาเหตุหลัก ๆ จะมาจากการสูบบุหรี่ นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องของสารเคมีที่ใช้ หรือยาที่ใช้ ยาบางอย่างก็ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น มีการอุดตัน หรือมีการอักเสบของหลอดเลือดได้
  • ในผู้สูงอายุ จะเป็นลักษณะของความเสื่อม คือผนังหลอดเลือดมันเสียความยืดหยุ่นไป หรือมีภาวะของโรค เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเลือด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในวัยกลางคน และวัยผู้สูงอายุ

โรคหลอดเลือดสมอง

สัญญานเตือนภาวะผิดปกติของโรคหลอดเลือดสมอง

 

อาการหลักคือ อาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว แขนขาอ่อนแรง หรือมีการพูดไม่ชัด แต่โอกาสที่มันจะเตือน ระยะเวลามันสั้นมาก บางคนไม่คิดด้วยซ้ำว่า อันนี้คือการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง เพราะจริง ๆ แล้ว อาการปวดศีรษะ อาการคลื่นไส้ อาเจียน มันเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เพราะฉะนั้น ค่อนข้างยากที่จะบอกว่าเป็นอาการของหลอดเลือดสมอง แต่ก็ต้องบอกว่าอาการปวดศีรษะ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการนำของการเกิดภาวะของหลอดเลือดผิดปกติในสมอง

 

อาการโรคหลอดเลือดสมองตามหลัก FAST

 

  • F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ทดสอบง่าย ๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน แล้วสังเกตว่าปากเบี้ยวหรือมุมปากตกหรือไม่?
  • A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ
  • S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนอาจคิดว่าผู้ป่วยมีอาการสับสน ทดสอบได้ง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่าย ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น
  • T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมอง เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะเสียหายมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง

 

อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเป็นทันทีทันใด ถ้าเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้

ออกกำลังกาย ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

 

  • ตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีความดันเลือดมากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์ และรับประทานยาลดความดันอย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่ง
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการลดอาหารเค็ม หวานจัด มันจัด เพิ่มผักผลไม้
  • เลิกสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา
  • ลดน้ำหนัก ในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยการออกกำลังกาย ควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ อย่างน้อย 10-20 ครั้ง ต่อนาที และอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
  • ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มาของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ตรวจร่างกายทางด้านหัวใจว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจหรือไม่ 

 

 

 

ขอบคุณที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ