Lifestyle

ทำความรู้จัก โรค "อุจจาระเต็มท้อง" พร้อมวิธีดูแล ลำไส้ ให้สุขภาพดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากกรณีที่นักร้องสาว ฮาย อาภาพร เคยประสบปัญหาสุขภาพ ซึ่งหมอเอกซเรย์เห็นว่า ใน ลำไส้ มีแต่ อุจจาระ ซึ่งเป็นที่มาของโรค "อุจจาระเต็มท้อง" หรือ ภาวะอุจจาระอุดตัน ซึ่งวันนี้เราจะพารู้จักกับโรคนี้ พร้อมแนะวิธีดูแล ลำไส้ ให้สุขภาพดีกันค่ะ

จากกรณีที่นักร้องสาว ฮาย อาภาพร เคยมีปัญหาสุขภาพ พักผ่อนไม่พอ กินแล้วไม่ถ่าย มึนหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนโลกหมุน ลืมตาไม่ได้ เหมือนทุกอย่างจะร่วงลงมา กระทั่งหมอเอกซเรย์ เห็นทุกสิ่งอย่าง อุจจาระ ถึงคอหอย ลำไส้ มีแต่อุจจาระ และได้มีการแชร์ประสบการณ์ไปแล้วนั้น จากอาการที่กล่าวมา วันนี้ คมชัดลึก ออนไลน์ จึงขออาสาพาไปทำความรู้จักกับโรค "อุจจาระเต็มท้อง" หรือ ภาวะ อุจจาระอุดตัน แบบเจาะลึกกันค่ะ

 

นพ.อนุพงศ์ ตั้งอรุณสันติ จากโรงพยาบาลสมิติเวช ให้ความรู้ว่า ภาวะ อุจจาระอุดตัน หรือ “อุจจาระเต็มท้อง” หรือ อุจจาระตกค้าง เป็นภาวะที่ขับถ่ายอุจจาระออกไม่หมดทำให้มีการตกค้างอยู่ภายใน ลำไส้ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานจนอุจจาระเกาะติดแน่น เมื่อมีอุจจาระใหม่ก็จะไม่สามารถขับอุจจาระเก่าออกไปได้ กลายเป็นอุจจาระที่แข็งติดแน่นสะสมไม่สามารถออกไปจากลำไส้ได้  ส่งผลให้มีอาการท้องผูกรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน  เวียนศีรษะ หายใจติดขัด แน่นท้อง รู้สึกมีลมจำนวนมาก

 

สาเหตุของภาวะ อุจจาระอุดตัน หรือ “อุจจาระเต็มท้อง” สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพดีหรือ อุจจาระ ทุกวัน โดยมีสาเหตุ ดังนี้

 

  • การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี เช่น การเบ่งถ่ายขณะหายใจเข้าแล้วแขม่วท้อง  
  • การกลั้นอุจจาระ ผู้ป่วยอาจปวดอุจจาระในระหว่างการเดินทาง ระหว่างการประชุม หรือสถานการณ์ต่างๆ จนต้องกลั้นอุจจาระไว้ไม่สามารถเข้าห้องน้ำขณะรู้สึกปวดได้ 
  • ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เคลื่อนไหวน้อย 
  • รับประทานอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อแดง หรืออาหารที่ย่อยยาก  ไม่มีกากใย รวมถึงอาหารที่ทำให้เกิดอาการอืดแน่นท้อง
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ดื่มน้ำน้อย 
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบ่อย จนลำไส้เป็นพังผืด มีซอกหลืบให้อุจจาระไปตกค้าง  

 

อาการของภาวะ อุจจาระตกค้าง หรือ “อุจจาระเต็มท้อง”

หาก อุจจาระ ตกค้างจำนวนมากและปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายมากมาย ดังนี้

 

  • ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ต้องใช้แรงในการเบ่งอุจจาระอย่างมาก
  • รู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด หรืออุจจาระไม่หมดท้อง
  • มีเลือดปนอุจจาระ
  • ปัสสาวะบ่อยจากการที่กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ 
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • หายใจติดขัด หายใจได้ครึ่งเดียว ต้องหายใจลึกๆ ตลอดเวลา
  • รับประทานอาหารได้น้อยมาก เบื่ออาหาร 
  • ขมคอ เรอเปรี้ยว และผายลมตลอดทั้งวัน  
  • อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

 

การป้องกันภาวะ “อุจจาระเต็มท้อง”

 

  • ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน ประมาณ 05.00-07.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด
  • ฝึกเบ่งถ่าย อุจจาระ อย่างถูกวิธี  โดยนั่งบนโถชักโครกแล้วโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย กรณีที่เท้าเหยียบไม่ถึงพื้นหรือเป็นเด็ก ควรมีที่วางเท้า เพื่อออกแรงเบ่งอุจจาระได้ดีขึ้น
  • สำหรับคนที่ขับถ่ายยาก วิธีถ่ายให้หมดท้อง อาจใช้มือกดท้องด้านซ้ายล่างขณะขับถ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นให้ ลำไส้ เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
  • ลดอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ
  • ดื่มน้ำให้พอเพียง
  • ไม่กลั้นอุจจาระเด็ดขาด ควรขับถ่ายทันทีที่ปวด
  • หากยังไม่ปวดอุจจาระแต่จำเป็นต้องออกนอกบ้าน ไม่ควรพยายามเบ่งขณะที่ยังไม่ปวด เนื่องจากการเบ่งอุจจาระแรงๆ เป็นการกระตุ้นและเพิ่มแรงดันในลำไส้ หากทำบ่อยๆ อาจทำให้ลำไส้โป่งพอง เกิดริดสีดวงทวารได้
  • กรณีมีภาวะท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติกเพิ่ม เช่น นมเปรี้ยว ชาหมัก
  • ฝึกหายใจให้ถูกวิธี โดยหายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ
  • ไม่ควรเกร็งขณะเบ่งถ่าย 
  • ลุกขึ้นขยับร่างกายหลังรับประทานอาหาร  เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้บีบตัว  และกระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ดีขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

 

การรักษาภาวะ “อุจจาระเต็มท้อง”

หลังการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีต่างๆ  เช่น สวนทวารหนัก เหน็บยา หรือให้ยาระบาย  กรณีพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อนำ อุจจาระ ออกมาจาก ลำไส้ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาระบายมารับประทานเองเด็ดขาด เนื่องจากการรับประทานยาระบายบางประเภทอาจส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้ติดยา หรือลำไส้ดื้อยา และต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาระบายขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งใช้เท่าไหร่ก็ถ่ายไม่ออก ซึ่งเป็นข้อเสียของการใช้ยาระบายเองโดยที่ไม่หาสาเหตุ ดังนั้น หากพบว่ามีอาการของภาวะอุจจาระตกค้างควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด เนื่องจากการซื้อยาระบายมารับประทานเองเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ทำการรักษาได้ยากขึ้น ต้องมีการปรับยา หรือต้องใช้การรักษาร่วมกันหลายๆ วิธี

 

ติดตาม คมชัดลึก คลิก

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote  ในครั้งนี้

รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform

(https://awards.komchadluek.net/#)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ