Lifestyle

"ภาวะสิ้นยินดี" คืออะไร? เช็ค อาการ แบบไหน เข้าข่าย เพศ ไหนเสี่ยงเป็นมากสุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก "ภาวะสิ้นยินดี" Anhedonia ทิ้งทุกสิ่ง ดิ่งทุกอย่าง คืออะไร เช็ค อาการ แบบไหน เข้าข่าย แล้ว ผู้ชาย กับ ผู้หญิง เพศ ไหนเสี่ยงเป็นมากที่สุด

"ภาวะสิ้นยินดี" ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหู แต่เพียงแค่คุณลองนึกภาพตัวเอง ที่วันหนึ่ง รู้สึกเฉย ๆ กับสิ่งที่ชอบ หรือสิ่งที่เคยทำให้มีความสุข กลับกลายเป็นรู้สึกไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต รู้สึกเคว้งคว้าง ลืมเป้าหมายที่เคยทำ ไม่สนุกกับสิ่งที่เคยรัก ดิ่งกับทุกอย่าง ไม่รู้ว่าตัวเองจะเกิดมาทำไม เพื่ออะไร ว่างเปล่าไปหมด ถ้ามีอาการแบบนี้ ต้องรีบมาเช็คลิสต์กันเลย เพราะเพื่อน ๆ อาจจะมี "ภาวะสิ้นยินดี" หรือ Anhedonia ก็เป็นได้ แล้วภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และใคร เพศไหน เสี่ยงเป็นมากที่สุด 

"ภาวะสิ้นยินดี" (Anhedonia) เป็นอาการทางจิต และเป็นส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้า และ โรคไบโพลาร์ มาจากคำศัพท์ภาษากรีกโบราณ ประกอบด้วย 2 คำ คือ an- (ปราศจาก) และ hēdonḗ (ความพึงพอใจ) แปลรวม ๆ ว่า "ไร้ซึ่งความพึงพอใจ" ทำให้รู้สึกเฉื่อยชา ไม่ยินดียินร้าย ไม่พึงพอใจในการใช้ชีวิตเหมือนเดิม และแยกตัวออกจากสังคม ผู้ป่วยจะเก็บตัว หรือแยกตัวออกจากสังคม เพราะไม่สามารถรู้สึกถึงการเติมเต็มได้ หากมีอาการหนัก อาจจะดิ่งถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือพยายามอัตวินิบาตกรรม มักจะเกิดในผู้หญิง มากกว่าผู้ชาย สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท 

 

 

1. ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) 

  • ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกดีกับการเข้าสังคม หรือมีปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง


2. ภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia)

  • ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกยินดีกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยมีความสุข อย่างปกติ ที่บางคนอาจจะชอบกินของอร่อย แล้วทำให้รู้สึกดีขึ้น กลายเป็นว่าทุกอย่างกลายเป็นสีเทาไปหมด ไม่รู้สึกเติมเต็มที่ได้กินของอร่อย ไม่รู้สึกเติมเต็มที่ได้วาดรูป หรือไม่รู้สึกแฮปปี้กับงานอดิเรกที่ชอบอีกต่อไป จากคนที่มีพลังในการทำนู่นนี่ กลายเป็นคนเฉยชา ไร้อารมณ์ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง อยู่เฉย ๆ หรือนอนทั้งวัน การอยู่แบบไม่รู้สึกอะไร จะทำให้รู้สึกว่าชีวิตขาดสีสัน และไม่มีความหมาย เกิดเป็นความว่างเปล่า เคว้ง และรู้สึกว่าไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ซึ่งอย่างน้อย ๆ คนเราก็ควรจะมีความรู้สึกอะไรซักอย่างบ้าง เพื่อให้รู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่ 

ภาวะสิ้นยินดี

ทั้งนี้ ภาวะสิ้นยินดี อาจมีสาเหตุที่ไม่ได้มาจากโรคพื้นเดิม ตัวอย่างเช่น การทำงานมากเกินไป เหตุการณ์ร้ายแรงที่เพิ่งเกิดขึ้น ปัญหาทางการเงิน สภาพอากาศที่ไม่ดี และกิจกรรมที่น่าเบื่อ

 

อาการภาวะสิ้นยินดี

 

อาการของภาวะสิ้นยินดี จะแตกต่างกันไป และผู้ป่วยอาจไม่สามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยทั่วไป ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะนี้ จะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติต่าง ๆ ต่อไปนี้

 

  • รู้สึกเฉื่อย ๆ เฉยชา หรือไม่มีความรู้สึกต่อสิ่งรอบข้าง
  • เก็บตัว หรือแยกตัวออกจากสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างน้อยลง
  • มีอาการของโรคกลัวสังคม (Social Anxiety)
  • เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง
  • มีความคิดด้านลบต่อตนเองและผู้อื่น
  • แสดงออกด้านอารมณ์ ทั้งทางการกระทำและคำพูดน้อยลง
  • ไม่ยิ้ม หรือมีความสุขกับสิ่งที่เคยชื่นชอบ
  • ฝืนที่จะต้องแสดงอารมณ์ต่าง ๆ 
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • เกิดความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายอยู่บ่อยครั้ง

ภาวะสิ้นยินดี

สาเหตุของภาวะสิ้นยินดี

 

คาดว่าอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมองในการผลิต หรือตอบสนองอย่างผิดปกติต่อสารโดปามีน (Dopamine) ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกดีหรือพึงพอใจ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้ หรือมีความสุข ส่วนใหญ่แล้วภาวะนี้ จะพบได้มากในผู้ที่มีผิดปกติทางจิต เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นต้น รวมถึงผู้ที่ใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressant) หรือยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) และอาจพบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ที่ใช้สารเสพติดด้วยเช่นกัน

 

 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ คือ เป็นเพศหญิง มากกว่าเพศชาย มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคการกินผิดปกติ (Eating Disorder) เคยมีประวัติการใช้สารเสพติด เคยถูกทำร้าย หรือถูกทอดทิ้ง เพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่ตึงเครียด หรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เจ็บป่วยด้วยโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต หรือป่วยด้วยโรคที่มีความรุนแรง

 

การป้องกัน 

 

โดยทั่วไปแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพจิตยังคงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถป้องกันได้ และอาจเกิดได้จากปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวมกัน แต่หากสังเกตเห็นว่าอาการต่าง ๆ คล้ายกับภาวะสิ้นยินดี หรือปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา และหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม และรับความช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อน เพื่อให้คนรอบข้างสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมทั้งควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนอย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพจิตของตนเองอยู่เสมอ ก็อาจจะช่วยให้คุณห่างไกลกับภาวะสิ้นยินดี ได้

 

 

 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote https://www.komchadluek.net/entertainment/524524

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ