5 สัญญาณเตือน "ปวดหลัง" ร้ายแรงกว่าที่คิด พร้อมวิธีป้องกันก่อนสายเกินแก้
"ปวดหลัง" เป็นอาการที่คนส่วนมากน่าจะเคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่อาจจะมองว่าเป็นโรคที่ไม่อันตราย เมื่อมีอาการก็มักจะกินยาแก้ปวด หรืออาจจะปล่อยทิ้งไว้เพราะคิดว่าอาการจะหายเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจร้ายแรงกว่าที่คิด และอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้
อาการ "ปวดหลัง" ร้าวลงขา
อาจเกิดจากหมอนรองกระดูก บริเวณเอวปลิ้นออกมาทับเส้นประสาท ที่ควบคุมและรับความรู้สึกบริเวณขา อาการปวดมักรุนแรงขณะนั่ง เมื่อนานเข้าขาจะเริ่มชาเหมือนมีไฟฟ้าวิ่งแปล๊บๆ ในขา และ กล้ามเนื้อ ข้อเท้าและต้นขาจะอ่อนแรงลงในที่สุด
ปวดคอร้าวลงแขน
อาจเกิดจากหมอนรองกระดูก หรือกระดูกต้นคอเสื่อมจนกดเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขน เมื่อเป็นมากจะยกแขนได้ลำบาก และรู้สึกชาตลอดเวลา
เสียการทรงตัว เดินเซ สะดุดล้มบ่อย
อาการที่ดูเหมือนเป็นอาการของผู้สูงอายุ นอกจากนั้นยังไม่ค่อยแสดงอาการปวด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงรอให้อาการเป็นมากก่อนจึงมาพบแพทย์ อาการเหล่านี้อาจหมายถึงไขสันหลังที่ถูกกดทับที่ถูกซุกซ่อนอยู่ กรณีนี้อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่ภาวะอัมพาตได้
"ปวดหลัง" รุนแรงในท่านอน
โรคกระดูกสันหลังโดยทั่วไปมักเกิดอาการขณะนั่งหรือเดิน และมักดีขึ้นหรือหายไปเมื่อนอนลง อาการปวดหลังรุนแรงขณะนอนราบเป็นอาการที่พบได้น้อยแต่อาจหมายถึงโรคเนื้องอกบางชนิดที่ซ่อนอยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะช่วยวินิจฉัยได้อย่างดี
ควบคุมปัสสาวะ อุจจาระลำบาก
สาเหตุของอาการนี้จากโรคกระดูกสันหลังมีได้หลายอย่าง เช่น การเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงบริเวณกระดูกสันหลัง, หมอนรองกระดูกปลิ้นชิ้นใหญ่ที่กดทับเส้นประสาทหลายเส้น หรือโรคโพรงประสาทตีบแคบขั้นรุนแรง อาการนี้ถือเป็นอาการท้ายๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อตัวโรคอยู่ขั้นรุนแรงโดยมักมีอาการปวดเรื้อรัง อาการชาหรืออ่อนแรงบริเวณแขนขานำมาก่อน
การป้องกันอาการ "ปวดหลัง"
1.ปรับท่าในการประกอบกิจวัตรประจำวันให้ถูกต้อง โดยยึดหลัก 3 Smarts
- Sit Smart : ปรับท่าการนั่งทำงานให้ถูกต้อง โดยฝึกนั่งตัวตรง นั่งให้เต็มก้น หลังพิงพนักพอดี โต๊ะ และเก้าอี้มีความสูงที่พอเหมาะและสอดคล้องกัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
- Stand Smart : การยืนที่ถูกต้องสามารถลดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหลังได้ หลีกเลี่ยงการยืนหลังค่อม ยืนลงน้ำหนักขาเดียว
- Lift Smart : การก้มยกของที่ถูกท่า โดยการย่อเข่าลงไปเพื่อยกของแทนการโน้มหลังก้มลงไป เพื่อที่จะใช้แรงจากกล้ามเนื้อขาช่วยยกของเมื่อยืนขึ้น ก็สามารถลดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างหลังได้เช่นกัน
2.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่หนักเกินไป เช่น การยกของหนัก การเล่นกีฬาโดยขาดการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อ (Warm up)
3.ออกกำลังกายหรือบริหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อท้องและหลังให้แข็งแรงเป็นประจำอยู่เสมอ
4.งดสูบบุหรี่
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / โรงพยาบาลเวชธานี
ติดตาม คมชัดลึก คลิก
Line: https://lin.ee/qw9UHd2
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565 ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote ในครั้งนี้
รู้พร้อมกันที่ คมชัดลึก ทุก Platform