ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า “อะเฟเซีย” ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติด้านทางการสื่อสาร ซึ่งอาจจะเสียความสามารถในการพูด หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด หรือมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่าง
กรณีพระเอกฮอลลีวูดชื่อดัง "บรูซ วิลลิส" ประกาศยุติการแสดงในวัย 67 ปี เนื่องจากป่วยด้วยภาวะ "อะเฟเซีย" (Aphasia) วันนี้ คมชัดลึก ออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกันค่ะว่า "อะเฟเซีย" คืออะไร อาการเป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร รวมถึงวิธีการรักษาและวิธีป้องกัน
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า “อะเฟเซีย” ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะผิดปกติด้านทางการสื่อสาร ซึ่งอาจจะเสียความสามารถในการพูด หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด หรือมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่าง
อาการเป็นอย่างไร
อาการแบ่งได้ง่ายๆ เป็น 2 ประเภท คือ
- พูดได้ปกติหรือพูดคล่อง แต่ไม่เข้าใจในคำพูดของผู้อื่น คือบกพร่องที่การรับรู้ความเข้าใจ
- บกพร่องด้านการพูด คือ เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ตามปกติ เช่น เช่นนึกคำไม่ออก
ทั้งนี้ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการได้ทั้ง 2 ประเภท
ความรุนแรงของ “อะเฟเซีย” มีหลายระดับ ถ้าเป็นน้อยอาจจะแค่นึกคำบางคำไม่ออก ถ้ามีอาการมากก็ไม่สามารถสื่อสารได้เลยเพราะไม่เข้าใจในสิ่งที่พูดอื่นพูดและไม่สามารถพูดโต้ตอบได้
ใครคือกลุ่มเสี่ยง “อะเฟเซีย”
“อะเฟเซีย” เป็นอาการที่เกิดเนื่องมาจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เช่นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุที่กระทบกระทือนที่สมอง การติดเชื้อในสมอง เนื้องอกในสมอง มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น
ก่อนเป็น “อะเฟเซีย” หรือมีแนวโน้มที่จะเป็น สังเกตได้จากอะไร
เนื่องจากอะเฟเซียมีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมอง ดังนั้นถ้ามีอาการผิดปกติของสมองโดยเฉพาะเส้นเลือดตีบหรือแตก ก็มีโอกาสเป็นได้สูง รวมถึงอาการในข้อที่ 4 หรือไปพบแพทย์เพื่อทดสอบอาการ หรือให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น การทำ CT Scan, การทำMRI เพื่อหาความผิดปกติของสมอง กล้ามเนื้อ ไขมัน เป็นต้น
ถ้ามีความผิดปกติเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสาร หรือผิดปกติด้านการพูด เช่น การนึกคำพูด การใช้คำพูด การเขียนหรือการอ่าน ควรรีบปรึกษาแพทย์
วิธีการรักษา
- ก่อนอื่นต้องดูว่าเกิดจากสาเหตุใด และรักษาจากจุดนั้น
- สำหรับการรักษาอาการอะเฟเซีย จะมีการฟื้นฟูทางด้านการพูดและสื่อสาร โดยนักอรรถบำบัด หรือนักแก้ไขการพูด
วิธีป้องกัน
“อะเฟเซีย” ป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพสมองให้ดี หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายแก่สมองของเรา เช่น พฤติกรรมหรือโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง หรือสมองเสื่อม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และผู้อำนวยการ สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก (Arun Health Garden) ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูผสมผสาน กายภาพบำบัด และดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง