
เลือดในอุจจาระ
การตรวจหาเลือดในอุจจาระ เป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ ในการที่จะหาสาเหตุของภาวะที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น เนื้องอกของทางเดินอาหาร ซึ่งพบว่า 2-10% เป็นมะเร็ง และ 20-30% เป็นติ่งเนื้องอก หรือมีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็
ภาวะของโรคเหล่านี้ สามารถตรวจพบได้ในคนที่ไม่มีอาการ หรืออาการแสดงใดเลยก็ได้ แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจอุจจาระในห้องปฏิบัติการ
การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Stool occult blood test) มีด้วยกันหลายวิธี
วิธีที่มีความแม่นยำที่สุด คือ ใช้ชุดตรวจชื่อ one step occult blood test device ซึ่งมีตัวจับเฉพาะเลือดของผู้ตรวจเองเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าเรารับประทานอาหารที่มีเลือดสัตว์เป็นส่วนประกอบ จะไม่มีผลต่อการตรวจ ดังนั้น ถ้าผลการตรวจพบว่า มีเลือดปนมากับอุจจาระ แสดงว่า ผู้ตรวจอาจจะมีภาวะเลือดออกซ่อนเร้นในทางเดินอาหารได้ ผู้ป่วยที่ตรวจพบติ่งเนื้องอก และได้ตัดติ่งเนื้องอกด้วยวิธีการส่องกล้อง สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งได้ 76-90%
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับถึงประโยชน์ของการตรวจหาเลือดในอุจจาระนี้ ในแง่ที่สามารถลดการเกิดมะเร็งลำไส้ และองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้มีการตรวจหาเลือดในอุจจาระทุกปี สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และถ้าพบว่า มีเลือดในอุจจาระ ควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เพื่อค้นหาโรค เป็นการป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้น เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาเมื่อเกิดโรคอีกทางหนึ่ง
การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ ในระยะเริ่มต้น สามารถลดอุบัติการณ์เกิดมะเร็งและลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็ง
ผู้ที่ควรตรวจลำไส้ใหญ่ แบ่งเป็น 3 ระดับ ตามอัตราความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง
1. ความเสี่ยงโดยเฉลี่ย ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
2. ความเสี่ยงมากกว่าปกติ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ในญาติสายตรงที่อายุ 60 ปี หรือน้อยกว่า มีประวัติเป็นติ่งเนื้องอก หรือมะเร็งลำไส้
3. ความเสี่ยงสูง มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด ซึ่งพบว่า ญาติผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงมาก หรือมีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบชนิด Inflammatory Bowel Disease
การตรวจลำไส้ ในผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง
1. การตรวจอุจจาระโดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ ควรทำเป็นประจำทุกปี
2. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ควรทำทุก 5 ปี
3. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ร่วมกับการตรวจอุจจาระทุกปี
4. สวนแป้งตรวจลำไส้ใหญ่ทางรังสีทำทุก 5 ปี
5. ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ควรทำทุก 10 ปี ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงปานกลาง
โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม 0-5392-0300