
เรื่องราววิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ "ชาวมอแกน" ต้นตระกูลกล้าทะเล
เปิดเรื่องราววิถีชีวิตประวัติที่มา รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ "ชาวมอแกน" ต้นตระกูล "กล้าทะเล" ชุมชนชาวเลที่ตอนนี้ อาศัยอยู่ในหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา
หมู่บ้านมอแกน กลายเป็นที่สนใจของสังคมไทยในช่วงนี้ เพราะมีทั้ง ดราม่าและการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ความโปร่งใสของการพัฒนา และบทบาทของรัฐ ที่เกี่ยวข้อง
หากย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของต้นตระกูล “กล้าทะเล” หมู่บ้านมอแกน เป็นหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวมอแกน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา โดยมีจุดเด่นคือเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวเลที่อาศัยอยู่กับทะเลมาหลายชั่วอายุคน ใช้วิถีชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ และมีวัฒนธรรมเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
ประวัติและที่มา: หมู่บ้านมอแกนเป็นชุมชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามเกาะแก่งในทะเลอันดามัน เดิมสืบเชื้อสายมาจากโปโตมาเลซึ่งร่อนเร่อยู่ในทะเลอันดามัน มากว่า 100 ปี ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ หมู่บ้านมอแกน ตั้งอยู่ 2 แห่งคือที่อ่าวไทรเอน เกาะสุรินทร์เหนือ และอ่าวบอน เกาะสุรินทร์ใต้
ชาวมอแกน เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีชีวิตที่สัมพันธ์กับท้องทะเลมายาวนานตามเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago) ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จนถึงเกาะในทะเลอันดามันเหนือของประเทศไทย ชาวมอแกนในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 3,000 คน แต่เดิมชาวมอแกนมีวิถีชีวิตเร่ร่อน ทำมาหากินในทะเล ในฤดูแล้งจะอยู่อาศัยในเรือ ส่วนในฤดูฝนจะอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งมากขึ้น
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ชาวมอแกนทั้งหมดมีการตั้งหลักปักฐานเป็นชุมชน กระจายตัวอาศัยอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนอง บริเวณเกาะเหลา เกาะพยาม เกาะช้าง และเกาะสินไห ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา หลังเหตุการณ์สึนามี บางกลุ่มอาศัยร่วมกับชาวอูรักลาโวยจในชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต บางส่วนอพยพมาตั้งรกรากอยู่บนฝั่ง มีวิถีดำรงชีพดังเช่นคนไทยทั่วไป ในการประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปแทนการทำอาชีพประมง
แต่ภายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 บ้านเรือนชาวมอแกนเกิดความเสียหาย อย่างหนัก ทางอุทยานฯ จึงจัดสรรพื้นที่และรวบรวมชาวมอแกนให้มาอาศัยอยู่ที่บริเวณอ่าวบอนเพียงแห่งเดียว ต่อมา หมู่บ้านมอแกนในเขตหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เกิดเพลิงไหม้ ทำให้ในปัจุบัน หมู่บ้านต้องสร้างใหม่ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบอนของเกาะสุรินทร์ใต้ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ก็ได้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและ เอกชนยื่นมือเข้าช่วยเหลือชาวบ้านกันเป็นจำนวนมาก
- ชาวมอแกนแห่งหมู่เกาะสุรินทร์ มีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภาษาเป็นของตัวเอง พวกเขาทั้งหมด มีนามสกุลเดียวกัน คือ "กล้าทะเล" ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานจากสมเด็จย่า
- ชาวมอแกน เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวเล (หรือชาวทะเล) ที่เร่ร่อนตามฤดูกาล เดิมไม่ได้มีที่อยู่อาศัยถาวร
- หลังการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ (ปี พ.ศ. 2524) รัฐได้จัดที่ให้อยู่แบบถาวร จึงกลายมาเป็นหมู่บ้านมอแกน
- ในปี 2547 หมู่บ้านเก่าถูกคลื่นสึนามิทำลายย่อยยับ รัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนจึงช่วยสร้างหมู่บ้านใหม่ให้ เป็น “บ้านกล้าทะเล” พร้อมบ้านพักถาวรและสิ่งอำนวยความสะดวก
- บ้านหลังใหม่ถูกสร้างด้วยแนวคิดพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ปัจจุบัน พื้นที่ทำกินในทะเลถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติลดลงจากการประมงเชิงพาณิชย์ ทำให้ชาวมอแกนบางส่วนหันไปเป็นแรงงานในการประมงพาณิชย์และรับจ้างทั่วไปในโรงแรมและรีสอร์ท คนกลุ่มดังกล่าวมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือดำน้ำตัวเปล่าได้นาน ทั้งนี้คนในหมู่บ้านมอแกนยังมีพิธีกรรมประจำปีที่สำคัญ คือ การฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษ หรือ "หน่อเอนหล่อโบง" ที่จัดขึ้นในเดือนห้าทางจันทรคติ
จากการโพสต์ของ ทราย สก๊อต จนกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามของสังคมว่า.....สิทธิในการอยู่อาศัยและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หมู่บ้านมอแกนถูกโปรโมตเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม แต่ชาวมอแกน ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรหรือไม่? บางคนมองว่าเป็นการ “เอาคนมาโชว์นักท่องเที่ยว” หรือนี่คือ ภาพสะท้อนของการต่อสู้ระหว่าง วิถีชีวิตดั้งเดิมกับการพัฒนาแบบสมัยใหม่ การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวที่ดูดีนั้น จริงๆ แล้ว “ใครได้ประโยชน์” มากกว่ากัน?