
ครั้งแรกในรัชกาล ๑๐ พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์
ครั้งแรกในรัชกาล ๑๐ พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ เปิดที่มาความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การแสดงถึงความจงรักภักดี
พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ประจำปี 2567 ที่จะมีขึ้น ในวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ พระลานพระราชวังดุสิต ถือเป็นภาพสะท้อนความยิ่งใหญ่และความสามัคคีของกองทัพไทย ที่พร้อมเพรียงและสง่างามในทุกจังหวะก้าว สะท้อนถึงความเข้มแข็งของผู้พิทักษ์แผ่นดิน ผู้มุ่งมั่นปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดี พิธีนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเหล่าทหารรักษาพระองค์ ซึ่งได้รวมพลังแสดงออกถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของชาติ แสดงความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิทักษ์สถาบันและปกป้องแผ่นดินอย่างไม่หวั่นเกรง
เริ่มครั้งแรกเมื่อไหร่
การจัดพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ได้เริ่มครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสเสด็จเป็นองค์ประธาน ในงานวันสถาปนา กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ปีที่ ๘๕ ทรงตรวจพลสวนสนาม ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท โดยมีกำลังพลสวนสนามทั้งสิ้น ๔ กองพัน เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๖
พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์มีรากฐานมาจากธรรมเนียมปฏิบัติทางทหารที่มีมายาวนานในหลายประเทศ
การสวนสนามเป็นการแสดงความมีระเบียบวินัย ความพร้อม และความเข้มแข็งของทหาร ในประเทศไทย พิธีนี้มีการพัฒนาและปรับปรุงตามแบบแผนและประเพณีของกองทัพไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพิธีทหารทางยุโรป โดยเฉพาะในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ที่มีการปรับปรุงกองทัพไทยตามแบบสากล
การถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์นั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีและความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของประเทศ
ประวัติศาสตร์ความเป็นมา
พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ของประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและมีความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรมและประเพณีของชาติไทย พิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และสะท้อนถึงความพร้อมและความเป็นระเบียบวินัยของกองทัพไทย
• ในยุคแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ กองทัพไทยมีลักษณะเป็นกองทัพที่ประกอบด้วยทหารจากหน่วยงานต่างๆ ที่รวมตัวกันเมื่อมีสงครามหรือเหตุการณ์สำคัญ ไม่มีพิธีสวนสนามในลักษณะที่เป็นระเบียบเหมือนในปัจจุบัน
• พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงมีพระราชดำริในการปรับปรุงกองทัพไทยให้มีความทันสมัยและเป็นสากล โดยได้รับอิทธิพลจากกองทัพของประเทศในยุโรป ในช่วงนี้ได้มีการจัดตั้งหน่วยทหารรักษาพระองค์และเริ่มมีการฝึกสวนสนามแบบสากล
• พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องกองทัพทรงตั้งสภาป้องกันพระราชอาณาจักร กระทรวงทหารเรือ ทรงตั้งกองบินกองทัพบก (ปัจจุบัน คือ กองทัพอากาศ) และทรงสร้างเรือรบและจัดหายุทโธปกรณ์อันทันสมัยมาใช้ รวมถึงการพัฒนาให้ทหารทุกเหล่าทัพมีความเป็นระเบียบ มีวินัยและสง่างามมากขึ้น
• พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยทหารบก ทหารรักษาวัง และทหารเรือซึ่งประจำการอยู่ในกรุงเทพมหานคร กระทำสัตย์สาบานตนต่อธงชัยเฉลิมพลร่วมกันหน้าพระที่นั่ง ณ พระลานพระราชวังดุสิต ภายหลังจึงได้จัดพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นประจำทุกปีในห้วงเดือนตุลาคมจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๔
• พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จฯ ออกรับการตรวจพลสวนสนามของกองกำลังทหารอังกฤษและอินเดีย แห่งฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมด้วย พลเรือตรีลอร์ด หลุยซ์ เมาท์แบตเตน (Lord Louis Mountbatten) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคตะวันออกไกล (แม่ทัพใหญ่แห่งฝ่ายสัมพันธมิตร) ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถ่ายโดยช่างภาพฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๙ ณ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ
• พระบาทสมเด็จพระบรนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสวนสนามและการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ โดยมีการจัดพิธีนี้ในหลายโอกาสสำคัญ เช่น
๑. วันเฉลิมพระชนมพรรษาในทุกปี วันที่ ๕ ธันวาคม จะมีการจัดพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ
๒. วันกองทัพไทย เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ทหารรักษาพระองค์ได้แสดงความพร้อมและความมีระเบียบวินัย
๓. โอกาสพิเศษอื่น ๆ เช่น พิธีเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญต่างๆ ของชาติไทย ทหารรักษาพระองค์จะเข้าร่วมพิธีเหล่านี้เพื่อแสดงความจงรักภักดีและการสืบสานประเพณี
• พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานและสนับสนุนการจัดพิธีสวนสนามและการถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดพิธีในโอกาสสำคัญต่างๆ
โดยในปี ๒๕๖๗ กองทัพไทย ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดพิธี ด้วยเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อีกทั้งยังแสดงถึงความเข้มแข็ง สง่างาม และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทหารรักษาพระองค์ ในวันอังคารที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๗ ณ พระลานพระราชวังดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ที่มา พระลาน