รู้จัก "โรคหัด" โรคติดต่อจากคนสู่คน รุนแรงขั้นเสียชีวิต เด็กคือกลุ่มเสี่ยง
รู้จัก "โรคหัด" โรคติดต่อจากคนสู่คน ติดได้ง่ายและรวดเร็วมาก โดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน รุนแรงขั้นเสียชีวิต เด็กคือกลุ่มเสี่ยง พ่อแม่ต้องคอยระวัง! ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
ขึ้นชื่อว่า “โรค” เชื่อว่าเป็นสิ่งที่คุณไม่อยากให้เกิดกับตัวคุณเองและคนที่คุณรัก ยิ่งถ้าเกิดกับลูกน้อยยิ่งต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่เสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากยัง ไม่มีภูมิคุ้มกันตัวเองที่แข็งแรง และในปัจจุบันหนึ่งในโรคที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับเด็กคือ “โรคหัด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาด ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทย สถานการณ์นี้น่าเป็นห่วงมากพบ ใน 3 จังหวัด มีการระบาดของโรคหัดอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตแล้ว ในรอบเดือนที่ผ่านมา 5 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 3 ราย และเป็นผู้ใหญ่อายุ 32 ปี 1 ราย และ 43 ปี 1 ราย
โรคหัด และโรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งโรคหัดเป็นโรคติดต่อจาก คนสู่คน โรคหัดก่อให้เกิดความรุนแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ในเด็กกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วม ดังนั้นการป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันที่ได้ผลดีที่สุดคือการรับวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
โรคหัด เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก 9 เดือน – 1 ปี
โรคหัด แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะไข้ และระยะผื่น ระยะไข้จะมีอาการไข้ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาแดง และตามมาด้วยผื่นขึ้นที่ผิวหนัง โดยเริ่มจากใบหน้าและลำคอ และกระจายมาถึงมือและเท้า อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง
โรคหัด ไม่มียารักษาที่จำเพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ โดยให้ยาตามอาการ ดื่มน้ำ และพักผ่อนเพียงพอ เด็กที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรคหัด ได้แก่ เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน เด็กขาดสารอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามิน A เด็กที่มีโรคหรือภาวะ ที่ทำให้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิ หรือยารักษาโรคมะเร็ง นอกจากนั้นใน หญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทำให้เสี่ยงต่อการแท้งและคลอดก่อนกำหนด
ถึงแม้ไม่มียารักษาโรคหัดได้โดยตรง แต่เราก็สามารถป้องกัน ได้โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ให้ครบตามกำหนด โดยในปัจจุบันวัคซีนหัด ในประเทศไทย จะรวมอยู่กับ หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR) แนะนำให้รับครั้งแรกอายุ 9-12 เดือน และเข็มที่สองที่อายุ 2 ปีครึ่ง