Lifestyle

31 พ.ค. "วันงดสูบบุหรี่โลก" เปิด 9 โทษของ บุหรี่ ที่นักสูบควรรู้และต้องระวัง

31 พฤษภาคม "วันงดสูบบุหรี่โลก" (World No Tobacco Day) ปี 2567 มีคำขวัญว่าอย่างไร เปิด 9 โทษของ บุหรี่ ที่นักสูบควรระวัง

"วันงดสูบบุหรี่โลก" (World No Tobacco Day) ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 โดย องค์การอนามัยโลก เพื่อให้เห็นถึงอันตรายของ บุหรี่ ต่อสุขภาพและโทษของ บุหรี่ การจัดงาน "วันงดสูบบุหรี่โลก" ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก

 

 

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมจัดกิจกรรม "วันงดสูบบุหรี่โลก" ประจำปี 2567 ภายใต้คำขวัญ "บุหรี่ไฟฟ้า หยุดโกหกได้แล้ว" หวังกระตุ้นเตือนให้เยาวชน ผู้ปกครองและประชาชน รู้เท่าทันอันตรายและไม่หลงเชื่อลองเสพ บุหรี่ไฟฟ้า ทุกรูปแบบ 

 

โทษของบุหรี่ต่อสุขภาพมีหลายประการ เพราะ บุหรี่ ประกอบด้วยนิโคตินและสารเคมีที่เป็นพิษมากกว่า 5,000 ชนิด การสูดดมสารเคมีเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง เช่น เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด สมอง ระบบสืบพันธุ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เบาหวาน และปัญหาสุขภาพจิต

 

นอกจากนี้ โทษของบุหรี่ ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อผู้สูบบุหรี่ แต่คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่อาจสูดดมควันบุหรี่เข้าไปและทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและทารกซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพมากกว่าช่วงวัยอื่น หากทราบเกี่ยวกับโทษของบุหรี่อาจทำให้นักสูบตัดสินใจเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

 

โทษของบุหรี่ต่อร่างกาย

 

การ สูบบุหรี่ อาจก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น


1. ทำลายปอด

 

การสูบบุหรี่สร้างความเสียหายแก่ปอดและระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการที่สารเคมีในบุหรี่ทำลายเนื้อปอด ถุงลมปอด และเยื่อบุหลอดลม ซึ่งก่อให้เกิดโรคเรื้อรังที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ตามมา 

 

การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ปอด เช่น ปอดบวม วัณโรค และหากผู้สูบบุหรี่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด อาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้

 

นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่อาจทำให้ปอดของทารกในครรภ์เกิดความเสียหายและไม่พัฒนาตามช่วงวัย เด็กที่อยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่อาจได้รับควันบุหรี่มือสอง (Secondhand Smoke) ขณะที่คนในบ้าน เช่น พ่อแม่ ญาติ หรือพี่เลี้ยงสูบบุหรี่ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพได้มากกว่าเด็กที่อยู่ในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่

 

 

2. เสี่ยงเป็นมะเร็ง

 

โรคมะเร็ง เป็นโทษของ บุหรี่ อีกข้อหนึ่งที่ควรทราบ โดยบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น นิโคติน ทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ ซึ่งทำให้ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเกือบทุกชนิด

 

มะเร็ง ที่พบบ่อยที่สุดจากการสูบบุหรี่คือ มะเร็งปอด และอาจทำให้เกิดมะเร็งที่ส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไตและทางเดินปัสสาวะ มะเร็งตับ และมะเร็งปากมดลูก

 

 

3. ทำลายหัวใจและหลอดเลือด

 

สารนิโคติน ในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหดตัวและตีบตัน ทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง หัวใจขาดเลือด (Heart Attack) โรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

 

4. เป็นภัยต่อดวงตา

 

การ สูบบุหรี่ ส่งผลเสียต่อการมองเห็น โดยอาจทำให้มีอาการตาแห้ง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม และเส้นประสาทในดวงตาเสื่อม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่สูบบุหรี่อาจะเสี่ยงเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้

 

นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่อาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity) อีกด้วย

 

 

5. ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต

 

หลายคนสูบบุหรี่เพื่อผ่อนคลายความเครียดและความกังวล เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะกระตุ้นให้สมองปล่อยโดพามีน (Dopamine) ที่ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจหรือมีความสุข 

 

แต่การสูบบุหรี่บ่อยจะทำให้เกิดภาวะติดสารนิโคติน ซึ่งทำให้ต้องสูบบุหรี่อยู่เรื่อยๆ หากไม่ได้สูบบุหรี่จะทำให้รู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ และซึมเศร้า นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรควิตกกังวลและโรคนอนไม่หลับอีกด้วย

 

 

6. ส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์

 

โทษของบุหรี่อีกข้อหนึ่งคือทำให้การหลั่งฮอร์โมนเพศและความต้องการทางเพศทั้งหญิงและชายลดลง ผู้ชายที่สูบบุหรี่อาจเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) และผู้หญิงที่สูบบุหรี่อาจเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ตั้งครรภ์ได้ยาก และอาจทำให้เกิดความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ต่างๆ เช่น

 

  • ปัญหาเกี่ยวกับรก เช่น รกเกาะต่ำ (Placenta previa) และรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption)
  • แท้งลูก และภาวะตายคลอด
  • คลอดก่อนกำหนด และทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
  • ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความผิดปกติอื่น ๆ ในทารก
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy)

 

 

7. เพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน

 

นิโคติน ใน บุหรี่ อาจทำลายเซลล์ในร่างกาย ยับยั้งการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าผู้ที่ไม่สูบประมาณ 30-40%

 

 

8. ทำลายกระดูกและฟัน

 

การสูบบุหรี่ส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และกระดูกหักง่าย โทษของบุหรี่ต่อสุขภาพช่องปากคือทำให้มีกลิ่นปาก ฟันเหลืองหรือมีคราบสีน้ำตาลเกาะบนผิวฟัน เนื่องจากการเผาไหม้สารเคมีในบุหรี่ 

 

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่อาจทำให้เหงือกบวมอักเสบ มีเลือดออก และเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์ ซึ่งอาจทำให้สูญเสียฟันได้

 

 

9. ผิว ผม และเล็บเสียหาย

 

สารเคมีในบุหรี่ทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในผิวหนัง และเพิ่มจำนวนเม็ดสีในผิวหนัง ทำให้ผิวขาดความยืดหยุ่น เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่อาจทำให้ผมร่วง แผลหายช้า เพิ่มความเสี่ยงของโรคผิวหนัง เช่น ต่อมเหงื่ออักเสบ โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคสะเก็ดเงิน และมะเร็งผิวหนัง รวมทั้งทำให้เล็บเปราะและเสี่ยงต่อการติดเชื้อราที่เล็บ

 

 

ข้อมูล : Pobpad

 

ข่าวยอดนิยม