22 เม.ย. "วันคุ้มครองโลก" ร่วมตระหนักถึงปัญหา และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ใน สังคม
22 เม.ย. "วันคุ้มครองโลก" ร่วมตระหนักถึงปัญหา และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ใน สังคม ขณะที่ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ คือ ภัยคุกคามอันใหญ่หลวงที่สุดต่อสรรพชีวิตบนโลก
"วันคุ้มครองโลก" Earth Day ตรงกับวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ประกาศโดย โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program "UNEP") เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2513 โดยในประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี โดยหน่วยงานต่างๆ เช่น กรีนพีซ
นอกจาก วันคุ้มครองโลก 22 เมษายนแล้ว ยังมีวันคุ้มครองโลกที่กำหนดขึ้นจากช่วง วิษุวัต (equinox) เช่นกัน วิษุวัตเป็นช่วงที่ในกลางวันและกลางคืนมีระยะเวลาเท่ากัน และเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ และฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้ โดยนับจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่แกนขั้วโลกจะตั้งได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ในช่วงวันที่ 20-21 มีนาคมของทุกปี
"วันคุ้มครองโลก" นี้ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ต่อมา สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ตัดสินใจขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ยกเรื่อง สิ่งแวดล้อม ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เคเนดีเห็นด้วยและได้ออกเดินสายทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายนพ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต)
การเดินสายครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่ม วันคุ้มครองโลก จนในปี พ.ศ. 2512 สมาชิกวุฒิสภาเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนให้ทุกๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น นำสู่ความสำเร็จของการก่อตั้ง วันคุ้มครองโลก ขึ้นต่อมา
เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) จะทำลายชุมชนและทำให้ระบบนิเวศพังทลาย ทุกมิติของวิถีชีวิตเราทุกคนต่างมีความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เราสามารถกู้วิกฤตนี้ร่วมกัน อุตสาหกรรมสกปรกทั้งเชื้อเพลิงฟอสซิลและเกษตรอุตสาหกรรมต่างปฏิเสธความรับผิดชอบต่อวิกฤตที่ตนมีส่วนสร้างขึ้น
วิกฤตสภาพภูมิอากาศ คือ ภัยคุกคามอันใหญ่หลวงที่สุดต่อสรรพชีวิตบนโลก ขณะที่เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ของพวกเราทุกคนด้วย เรามีโอกาสในการทำให้ระบบสภาพภูมิอากาศอันละเอียดอ่อนคืนสู่สมดุลโดยการเลือกพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปกป้องระบบนิเวศป่าไม้และมหาสมุทร และมุ่งหน้าสู่ระบบเกษตรกรรมเชิงนิเวศ เราสามารถร่วมมือกันกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ เยียวยาโลกของเราให้เป็นที่ที่ปลอดภัยขึ้น น่าอยู่ขึ้นและเป็นธรรมมากขึ้น
ข้อมูล : วิกิพีเดีย / กรีนพีชไทยแลนด์