Lifestyle

ตำนาน 'คืนส่องเทียน' คืออะไร ใครเข้าใจ เท่ากับรู้อายุ

ย้อน ตำนาน 'คืนส่องเทียน' ที่ สนามจุ๊บ ยุคของการสอบ 'เอนทรานซ์' เข้า มหาวิทยาลัย บรรยากาศที่ บีบหัวใจ นักเรียน ม.6

ย้อนกลับไปในยุคแรกของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เรียกกันว่าการสอบ “เอนทรานซ์” โดยเฉพาะในช่วงของการประกาศผลสอบ นักเรียน นักศึกษา ในยุคนั้น ต่างจดจำบรรยากาศได้เป็นอย่างดี ใครที่อยากรู้ผลสอบก่อน ก็จะไปเฝ้ากันที่ “สนามจุ๊บ” เพราะเจ้าหน้าที่จะติดผลสอบ 1 คืนก่อนวันประกาศจริง ก็ต้องเอาเทียนไปส่อง จนเป็นที่มาของ ตำนาน “คืนส่องเทียน”

ตำนาน “คืนส่องเทียน”

 

 

การประกาศผลสอบเอนทรานซ์ ในยุคสมัยนั้น มีทั้งดูผลสอบที่ประกาศทางทีวี, ทางจดหมาย หรือหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าใครไม่อยากรอ ก็จะไปปักหลักกันที่ “สนามจุ๊บ” หรือ สนามกีฬาจามจุรี (ปัจจุบันเป็นสนามกีฬาของสโมสรฟุตบอลจามจุรี ยูไนเต็ด) เพราะเจ้าหน้าที่จะมาติดผลสอบ 1 คืน ก่อนวันประกาศจริง โดยเอาเทียนไปส่อง เพราะเขาจะไม่เปิดไฟ จนเป็นตำนาน “คืนส่องเทียน”

 

 

ใครที่อยู่ในยุคของการสอบเอนทรานซ์ และผ่านบรรยากาศ “คืนส่องเทียน” จะรู้ดีว่า บรรยากาศจะเศร้า และบีบหัวใจมาก มันเป็นการลุ้นแบบใจจดใจจ่อ เมื่อไม่เจอชื่อตัวเอง เพราะสอบไม่ติด ก็จะได้ยินเสียงร้องไห้กันระงม ซึ่งเป็นส่วนมาก มากกว่าคนสอบติดประมาณ 10 ต่อ 1 แถมในสมัยก่อน ก็ไม่มีมหาวิทยาลัยเอกชนมารองรับมากมายเหมือนปัจจุบัน ทำให้คนที่เอ็นไม่ติด จะค่อนข้างเคว้งคว้าง

 

 

ดูผลสอบ เอนทรานซ์ ทางจดหมาย,หนังสือพิมพ์

 

 

ส่วนการตรวจผลสอบเอนทรานซ์แบบเป็นทางการ จะเป็นการส่งผลสอบให้ทางไปรษณีย์ ตามชื่อที่อยู่ที่แจ้งไว้ นักเรียนก็รอจดหมายประกาศผลสอบอยู่กับบ้าน ฟีลก็จะเป็นแบบ พอไปรษณีย์มาส่งของที ก็ต้องวิ่งออกไปรับ อาการลุ้นแบบ ใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ กันเลยทีเดียว ว่าใบผลสอบมาหรือยัง นอกจากนี้ ก็ยังมีประกาศลงบนหนังสือพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์วัฎจักร

                  ประกาศผลสอบเอนทรานซ์ผ่านหนังสือพิมพ์วัฏจักร

ดูผลสอบ เอนทรานซ์ ทางทีวี

 

 

การดูผลสอบเอนทรานซ์ผ่านทางทีวี เริ่มตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2530 ผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ซึ่งผู้ประกาศข่าวในยุคนั้นคือ “วิทวัส สุนทรวิเนตร์” พิธีกรรายการตีสิบ และ “อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง” โดยจะเริ่มประกาศตอนเที่ยงคืนเป็นต้นไป เรียงตามรหัส ตั้งแต่คนแรกไปถึงคนสุดท้าย บรรดาเด็กนักเรียน ม.6 รวมทั้งกองเชียร์ จะต้องนั่งลุ้นแบบวินาทีต่อวินาที เพราะรายชื่อประกาศผล จะไหลแบบเร็วมาก ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบัน ที่สามารถดูได้ทุกช่องทาง สะดวกรวดเร็ว

วิทวัส-อรุณโรจน์

 

เอนทรานซ์ คืออะไร

 

 

เอนทรานซ์ คือ ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในยุคแรกๆ เริ่มในปี 2504 โดยปี 2548 เป็นปีสุดท้ายที่มีการสอบด้วยระบบ เอนทรานซ์ ซึ่งการสอบเอนทรานซ์ เป็นการสอบเข้าแบบที่ยังไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามาดูแลเป็นทางการ แต่เกิดจากความร่วมมือกันของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในยุคนั้น จัดสอบขึ้นมากันเอง เพื่อแก้ปัญหาที่นักเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายสมัครสอบแต่ละที่หลายครั้ง

 

 

โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน  รูปแบบการสอบยุคนี้ เปิดให้นักเรียนเลือกคณะที่สนใจเข้าศึกษาได้ 4 อันดับ (ภายหลังปี 2516 เปลี่ยนเป็น 6 อันดับ) จากนั้น ก็เข้าสอบเอ็นทรานซ์ โดยใช้คะแนนสอบเอ็นทรานซ์ 100% ไม่ต้องใช้เกรดเฉลี่ยในโรงเรียน และสามารถสอบเทียบได้ หากมีความรู้ความสามารถ ซึ่งเป็นการสอบแบบครั้งเดียว หากไม่ติดต้องรอสอบใหม่ปีหน้าเลยทีเดียว

 

 

ใครที่เกิดในยุคที่ยังใช้วิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยระบบ “เอนทรานซ์” ต่างจดจำ ตำนาน “คืนส่องเทียน” กันได้เป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งในชีวิตนักเรียน ม.ปลาย ของใครหลายคน

 

 

 

 

ที่มา : ชุมชนคนรักของเก่า

 

ข่าวยอดนิยม