Lifestyle

14 พ.ย. 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' เปิด 3 ขั้นตอนการทำ 'ฝนหลวง' แก้ปัญหาภัยแล้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

14 พ.ย. 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เปิด 3 ขั้นตอนการทำ 'ฝนหลวง' แก้ปัญหาภัยแล้ง

'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม เนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง จนเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น "โครงการพระราชดำริฝนหลวง" ในปัจจุบัน

 

 

"โครงการฝนหลวง" เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในการเกษตร

 

 

เมื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกร เมื่อ พ.ศ. 2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ให้กับ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2512 ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับ โครงการพระราชดำริฝนหลวง ต่อไป

 

 

ในวันที่ 24 ม.ค. 2556 รัฐบาลได้รับการก่อตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2556 เปิด กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขึ้นเป็นกรมในกระนูยเกษตรและสหกรณ์

 

 

คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2545 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งฝนหลวง" พร้อมกันนี้ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง'

 

 

ขั้นตอนการทำฝนหลวง

 

ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน

 

เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการในขั้นตอนนี้มุ่งใช้สารเคมีกระตุ้นให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำหรือความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ไม่ควรเกิน 10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ (แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ค่า critical relative humidity ต่ำ) เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ (เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมฆด้วย) ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มก่อตัวและเจริญเติบโตทางตั้งแล้ว จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อนโปรยเป็นวงกลมหรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้นๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วม (main cloud core) ในบริเวณปฏิบัติการ สำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป

 

 

ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน

 

เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะสำคัญมากในการปฏิบัติการ เพราะจะต้องเพิ่มพลังงานให้แก่การลอยตัวขึ้นของก๊าซ (updraft) ให้ยาวนานออกไป ต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์การทำฝนควบคู่ไปพร้อมกันเพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับความแรงของ updraft มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลาย

 

 

ขั้นตอนที่สาม : โจมตี

 

เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการ ฝนหลวง เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีกและกระจังหน้าของเครื่องบิน เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ต้องอาศัยประสบการณ์มาก เพราะจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงของ updraft หรือทำให้อายุของ updraft หมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็นคือเพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน จึงทำให้เกิดฝนขึ้น

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย / ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ