'soft power คือ' เมื่ออะไรๆ ก็ 'ซอฟต์พาวเวอร์' ค่านิยม หรือ ผลักดัน?
ส่องความหมาย 'soft power คือ' เมื่ออะไรๆ ก็ 'ซอฟต์พาวเวอร์' ค่านิยม หรือ ผลักดัน หลังดราม่า ผลักดันภาพยนตร์ 'สัปเหร่อ' เป็น ซอฟต์พาวเวอร์
คำว่า “soft power” (ซอฟต์พาวเวอร์) กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง จากดราม่าที่ “ต้องเต” ผู้กำกับภาพยนตร์ “สัปเหร่อ” ซัดรัฐบาล อยากให้สนับสนุนภาพยนตร์เป็น soft power จริงๆ ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูปแล้วบอกหนังสัปเหร่อเป็น soft power ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เขายังไม่เข้าใจถ่องแท้เลยว่า คำว่า “soft poewr คือ”
ครั้งหนึ่ง “soft power” ถูกพูดถึง และมีความพยายามผลักดันให้สินค้าไทย เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” จากการที่ แร็ปเปอร์สาววัย 19 ปี “มิลลิ” ขึ้นโชว์เพลงแร็ปไทยบนเวทีการแสดงเทศกาลดนตรีระดับโลก Coachella Valley Music and Art Festival ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2565 โดยมีฉากเด็ดคือ การกิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” ครั้งนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งผลักดันข้าวเหนียวมะม่วงเป็น “soft power” ทันที
“ซอฟต์พาวเวอร์ คืออะไร”
จากข้อมูลในวิกิพีเดีย อธิบายเป็นครั้งแรกโดย โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด “ซอฟต์พาวเวอร์” soft power คือ อำนาจละมุน เป็นมานานุภาพ หรือ พลังเย็น แปลได้ว่า หมายถึง ความสามารถในการดึงดูด และสร้างการมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องบังคับหรือให้เงิน ในปัจจุบันใช้ในกรณีของการเปลี่ยนแปลง และสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม, ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ
นับตั้งแต่กระแส “ข้าวเหนียวมะม่วง” ประเทศไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นแม่งาน ได้กำหนดให้โฟกัส 5 เรื่องหลัก หรือที่เรียกว่า ศักยภาพ 5 F อันโดดเด่นของไทย ให้เป็น soft power ของประเทศ นำความเป็นไทย สู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยสู่เวทีโลก ได้แก่
- อาหาร (Food)
- ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion)
- ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)
- มวยไทย (Fighting)
- เทศกาลประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก
ดังนั้น ภาพยนตร์ จึงเป็นส่วนหนึ่งใน 5F ที่รัฐบาลจะผลักดันเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ แต่การสะท้อนความคิดเห็นของ “ต้องเต” เกี่ยวกับความเป็น soft power ของภาพยนตร์ไทย ในมุมมองของเขา แค่รู้สึกว่า มันคือกระบวนการที่ทำให้เกิดค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาจึงอยากเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เขามองว่า ถ้าหนังสัปเหร่อ สามารถเป็นโมเดลได้ อาจจะเป็นโมเดลที่จะขับเคลื่อนภาพยนตร์ไทยเรื่องต่อๆ ไปด้วย
เมื่ออะไรๆ ก็ ซอฟต์พาวเวอร์
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส จาก สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า การตื่นตัวของภาครัฐต่อ soft power นำมาสู่คำถามว่า แท้ที่จริงแล้ว ภาครัฐเข้าใจ soft power ดีพอหรือไม่? เพราะที่ผ่านมา นโยบายซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ soft power ของหน่วยงานต่างๆ หรือความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ล้วนสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดในความเข้าใจต่อนิยามและการทำงานของ soft power เช่น กระทรวงวัฒนธรรม สั่งห้ามนำท่ารำใส่ในเกมผี เพราะอาจทำให้คนกลัวการรำไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการจัดอันดับ 120 ประเทศ ประเทศที่มี ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ทรงพลังที่สุดในโลกในปี 2565 อันดับที่ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ในขณะที่เกาหลีใต้ อยู่ในอันดับที่ 12 ส่วนประเทศไทยแม้ว่าจะได้รับคะแนนประเมินที่สูงขึ้น แต่อันดับกลับตกลงจากลำดับที่ 33 ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 35 ในปี 2565
ที่มา : วิกิพีเดีย, TDRI, หอสมุดรัฐสภา