Lifestyle

รู้จัก 'ผ้าลายอย่าง' ผ่านเครื่องแต่งกายผู้มียศศักดิ์ จาก 'ละครพรหมลิขิต'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ละครพรหมลิขิต' ผู้ชมจะได้เห็นเครื่องแต่งกายอันสวยงาม ซึ่งทีมงานตั้งใจสร้างสรรค์ เพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงความงดงามของราชภูษิตาภรณ์อันเป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ และราชนารีฝ่ายใน

หนึ่งในเรื่องราวจาก ละครพรหมลิขิต ที่ถูกพูดถึงมากคือ เครื่องแต่งกายของนักแสดงที่รับบทเป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ ในพระบรมมหาราชวัง ไม่จะเป็น พระเพทราชา ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา รับบทโดย “บิ๊ก” ศรุต, “ก๊อต” จิรายุ รับบทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นต้น ซึ่งวันนี้ คมชัดลึก จะพาไปชมเครื่องแต่งกายอันงดงามของตัวละครเหล่านี้กัน

 

หนึ่งในจุดสำคัญของเครื่องแต่งกายนี้ คือ พระมหาพิชัยมงกุฏ เป็นการจำลองขึ้นใหม่จากแรงบันดาลใจของพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งจะสังเกตุได้ว่า บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฏไม่มีมหาวิเชียรมณี (เพชรขนาดใหญ่) ประดับอยู่ ด้วยเหตุว่าพระมหาพิชัยมงกุฏองค์ปัจจุบันที่ทุกท่านเคยเห็นภาพนั้น สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ดังนั้นทางทีมงานผู้ออกแบบจึงสร้างให้เป็นพระมหาพิชัยมงกุฏยอดแหลมให้สอดคล้องกับยุคสมัยในละคร

 

รู้จัก 'ผ้าลายอย่าง' ผ่านเครื่องแต่งกายผู้มียศศักดิ์ จาก 'ละครพรหมลิขิต'

 

ทั้งนี้ยังให้ความสำคัญกับ การนุ่ง ผ้าเขียนลายทอง “ลายทับทิมทิพย์” เป็น ผ้าลายอย่าง (ผ้าที่ทางราชสำนักส่งแบบลวดลายอย่างไทยให้อินเดียผลิตให้) ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นหนึ่งในแม่ลายไทยที่สูงศักดิ์ ใช้สำหรับผูกลายให้พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ โดยผ้าผืนนี้เป็นสีแดง ลวดลายผูกขึ้นใหม่โดยนำทับทิมอันหมายถึงไม้มงคล ตามคติความเชื่อของชาวจีน ที่มีการติดต่อค้าขายกับอยุธยาในเวลานั้น แสดงถึงความรุ่งเรืองมั่งคั่ง ด้วยการตีความของ อ.ธนิต พุ่มไสว ผู้ก่อตั้งภูษาผ้าลายอย่าง มองว่าขุนหลวงเพทราชาเป็นผู้ที่ดุดัน เคร่งขรึม จึงเลือกใช้เป็นผ้าโทนสีแดงดังที่ปรากฏในฉากบรมราชาภิเษกพระเพทราชา

 

 

 

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพทราชา ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ บ้านพลูหลวง แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา นุ่ง ผ้าเขียนลายทอง “ลายหิมพานต์”

 

โดยการนำ ผ้าลายอย่าง มาเขียนด้วยยางมะเดื่อ แล้วปิดด้วยทองคำเปลวแท้ทั้งผืน ใช่เวลาเขียนนานหลายเดือน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในฉาก ละครพรหมลิขิต ที่ทุกท่านได้ชม ให้เห็นถึงความงดงาม และความรุ่มรวยในสมัยอยุธยาในรัชกาลพระเพทราชา

 

ผ้าลายกุดั่นทรงเครื่องใหญ่

 

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระเจ้าเสือในรัชกาลถัดมา) รับบทโดย “ก๊อต” จิรายุ นุ่งผ้าลายกุดั่นทรงเครื่องใหญ่ แรงบันดาลใจจากต้นเสาศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นลวดลายที่มีอยู่จริงและศาลาการเปรียญหลังนี้พระเจ้าเสือได้ถวายให้แก่สมเด็จพระสังฆราชแตงโม เพื่อนำมาไว้ที่วัดน้อยปักษ์ใต้ (วัดใหญ่สุวรรณาราม) ที่เมืองพริบพลี (จังหวัดเพชรบุรี)

 

กรมพระเทพามาตย์ นุ่งผ้าเขียนลายทอง ลายสร้อยบุษบาบรรณ

 

กรมหลวงโยธาทิพย์ หรือ เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ นุ่งผ้าลายอย่าง ลายแก้วชิงดวง

 

กรมหลวงโยธาเทพ หรือ เจ้าฟ้าสุดาวดี นุ่งผ้าลายอย่าง ลายเครือพุดตาน

 

ขณะที่ เครื่องแต่งกาย ของ 3 ราชนารีฝ่ายใน ออกแบบโดยอ้างอิงจากจิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมบนสมุดข่อย รวมไปถึงในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยาเล่มที่ 6 ซึ่งพบภาพสตรีสวมศิราภรณ์ “เกี้ยวยอด” ไม่สวมกระบังหน้า นุ่ง ผ้าลายอย่าง สวมเสื้อหรือมีการห่มสไบสองชาย ผู้ออกแบบจึงนำมาสร้างสรรค์ผลงานขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นเครื่องแต่งกายของสตรีที่มียศศักดิ์อย่างงดงาม บ่งบอกความเป็นราชนารีภายใต้แนวทางอย่างโบราณ อันได้แก่

  1. กรมพระเทพามาตย์ มีพระนามเดิมว่า “กัน” นุ่งผ้าเขียนลายทอง ลายสร้อยบุษบาบรรณ
  2. กรมหลวงโยธาทิพย์ หรือ เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ พระราชขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นุ่งผ้าลายอย่าง ลายแก้วชิงดวง
  3. กรมหลวงโยธาเทพ หรือ เจ้าฟ้าสุดาวดี พระราชธิดาของสมเด็จพพระนารายณ์มหาราช นุ่งผ้าลายอย่าง ลายเครือพุดตาน

 

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ จากเพจ “ภูษาผ้าลายอย่าง”

 

logoline