Lifestyle

'วันสารทไทย 2566' เปิดที่มา แต่ละภาคเรียกว่าอะไร ประเพณีชิงเปรต คืออะไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

14 ตุลาคม 'วันสารทไทย 2566' หรือ 'วันสารทเดือนสิบ' เปิดที่มา แต่ละภาคเรียกประเพณีว่าอะไร 'ประเพณีชิงเปรต' คืออะไร

'วันสารทไทย' หรือ ที่หลายคนมักจะคุ้นกับชื่อ 'วันสารทเดือนสิบ' เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตรงกับวันสิ้นเดือน 10 หรือ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นช่วงที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังออกดอกออกผล โดย 'วันสารทไทย 2566' จะตรงกับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566

 

 

ที่มา 'วันสารทไทย'

 

มีต้นกำเนิดมาจากพิธีของพราหมณ์ เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลผลิตแรก จะนำมาทำเป็นข้าวมธุปายาสและสาคูเพื่อเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเพื่อเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป ต่อมาเมื่อคนเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติด้วย

 

โดย พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันใน ประเพณีสารทเดือนสิบ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเองและที่ไม่มีญาติด้วย 

 

คำว่า "สารท" เป็นคำอินเดีย หมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า "ออทั่ม" หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือ เท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพรรณธัญชาติ และผลไม้ เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า "Seasonal Festival"

 

สำหรับในพจนานุกรมไทย "สารท" มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็น ข้าวทิพย์ และ ข้าวมธุปายาส ถวายพระสงฆ์

 

ภาคกลาง 'สารทไทย'

 

การทำบุญเดือน 10 ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ประมาณปลายเดือน ก.ย.-ต.ค. มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือของนางนพมาศเนื่องจากศาสนาพราหมณ์เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีนมาจากศาสนาพราหมณ์ สำหรับขนมที่นิยมนำมาทำบุญ 'วันสารทไทย' นั้น ประกอบด้วย ขนมกระยาสารท

 

 

ภาคเหนือ 'งานทานสลากภัต' หรือ 'ตานก๋วยสลาก'

 

ภาคเหนือเรียกว่า ประเพณี ตานก๋วยสลาก ถือปฏิบัติกันในช่วงกลางพรรษา คือตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ประมาณปลายเดือนสิงหาคม) เป็นต้นไป จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่เหนือ ประมาณเดือนพฤศจิกายน ประเพณีตานก๋วยสลาก นั้น เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์โดยการจัดเตรียมก๋วย (หรือชะลอมขนาดเล็ก) ที่สานด้วยไม้ไผ่บรรจุอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน เครื่องใช้ที่จำเป็น

 

 

ภาคใต้ 'งานบุญเดือนสิบ' หรือ 'ประเพณีชิงเปรต' 

 

งานบุญประเพณีของคนภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ มีจุดประสงค์เพื่อให้มาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10

 

ความเชื่อของคนโบราณในแถบภูมิภาคนี้ ถือว่าเป็นเวลาที่วิญญาณกลับจากนรก ญาติพี่น้องจึงควรทำบุญ เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปให้ ถ้าผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญได้อิ่มท้องก็จะให้พร ถ้าไม่มีใครทำบุญไปให้ก็จะเสียใจบางทีอาจโกรธและสาปแช่ง จนถือเป็นวันรวมญาติ วันบูชาบรรพบุรุษ ใครไม่ร่วมจะโดนดูถูกว่าอกตัญญู

 

 

ประเพณีชิงเปรต

 

ชิงเปรต เป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันใน วันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือ วันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้นคือวัน "ส่งเปรต" กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่

 

ประเพณีการชิงเปรต นั้น หลังจากที่ได้วางเครื่องเซ่นให้แก่เปรตแล้ว โดยเชื่อว่าหลังจากเปรตอิ่มหน่ำจากเครื่องเซ่นที่วางไว้ให้แล้ว ก็จะทำพิธีเสสัง ลาเครื่องเซ่นไหว้เปรต ผู้ร่วมงานก็จะแย่งชิงเครื่องเซ่นไหว้กัน โดยเชื่อว่าเป็นของเดนชาน เมื่อกินแล้วเชื่อว่าเป็นมงคล อีกทั้งเป็นการช่วยให้เปรตได้ทำบุญทำทานอีกต่อ จากเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้ที่เปรตได้กินแล้ว ให้เป็นบุญแก่ผู้ยังมีชีวิตอยู่อีกต่อหนึ่งด้วย และเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้ ถ้าทิ้งไว้ก็เน่าเสียไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด

 

มีหลายคนไม่เข้าใจคิดว่า ประเพณีชิงเปรต คือ การแย่งเปรตกิน จึงเป็นความเข้าใจังที่ไม่ถูกต้อง ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนยืนยันว่า การชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการได้บุญ เพราะเชื่อกันว่าหากลูกหลานของเปรตใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้น

 

 

คนไทยเชื้อสายลาว 'การทำบุญข้าวสาก'

 

ประเพณีสารทเดือนสิบ ของคนไทยเชื้อสายลาว เรียก การทำบุญข้าวสาก ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่พระยายม เปิดขุมนรกให้สัตว์นรกได้มารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก ตั้งแต่เที่ยงคืนถึง วันขึ้น 14 ค่ำ ไปจนถึงเที่ยงคืน วันขึ้น 15 ค่ำ บางท้องถิ่นจะจัดให้มีการถวายทาน รักษาศีล เพื่อเป็นอุทิศส่วนบุญไปให้เหล่าปวงญาติที่ตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการฟังเทศน์ตลอดทั้งวัน เป็นเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น เช่นเรื่องมโหสถ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ เรื่องท้าวกำกาดำเป็นต้น

 

 

คนไทยเชื้อสายเขมร 'แซนโฎนตา'

 

ประเพณีสารทเดือนสิบ ของคนไทยเชื้อสายเขมร หรือเรียกว่า แซนโฎนตา ประกอบพิธีกรรมจะตรงกับวันแรม 14-15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ