Lifestyle

รู้จัก 'พิธีนวราตรี' ก่อนร่วม 'งานนวราตรี 2566' ที่ วัดแขก สีลม 14 - 26 ต.ค. นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'งานนวราตรี' หรือ งานแห่พระแม่อุมาเทวี ชายาของพระศิวะ เทพีแห่งความสำเร็จและอำนาจวาสนา กินระยะเวลา 9 คืน ปีนี้ 'งานนวราตรี 2566' จัดระหว่างวันที่ 14 - 26 ต.ค.

เทศกาลใหญ่ของชาวฮินดูในประเทศไทย คงไม่มีเทศกาลไหนยิ่งใหญ่เท่ากับ เทศกาลนวราตรี หรือ งานแห่พระแม่อุมาเทวี ชายาของพระศิวะ เทพีแห่งความสำเร็จและอำนาจวาสนา กินระยะเวลา 9 คืน เนื่องจากคำว่า นวราตรี มาจากภาษาสันสกฤต คำว่า นว แปลว่าเก้า และ ราตรี แปลว่าค่ำคืน จึงแปลรวมกันว่า "เก้าค่ำคืน" โดยจะจัดขึ้นวันที่ 1-9 ค่ำ เดือน 11 ของทุกๆ ปี สำหรับ งานนวราตรี 2566 จะตรงกับวันที่ 14 – 26 ต.ค. 2566 โดยการเฉลิมฉลองจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาคส่วนของวัฒนธรรมฮินดู

 

ประวัติ พิธีนวราตรี หรืองานแห่เฉลิมฉลองพระแม่อุมาเทวีปราบอสูรชนะ

 

เทศกาลนวราตรี หรือ งานนวราตรี คือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อบูชาองค์พระแม่อุมาเทวี เนื่องในโอกาสที่พระองค์สามารถปราบอสูรควายที่ชื่อว่ามหิษาสูรได้สำเร็จ โดยในเทศกาลนี้จะจัดขึ้น 9 คืน แต่ในวันที่ 10 จะถูกเรียกว่า “วันวิชยาทศมี” ซึ่งเป็นวันฉลองการปราบอสูรของพระแม่อุมา

 

สำหรับเรื่องราวก่อนที่จะมีพิธีแห่พระแม่อุมาเทวีเกิดขึ้น ตามตำนานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเล่าไว้ว่า มีอสูรตัวหนึ่งชื่อว่า มหิษาสูร ได้รับพรจากพระพรหมว่าไม่ให้มีใครหน้าไหนสามารถสังหารตัวเองได้ และเมื่อไม่มีใครสามารถปราบมหิษาสูรได้ จึงทำให้อสูรตนนี้สร้างความวุ่นวายไปทั่วจักรวาล เหล่าทวยเทพทนต่อความดุร้ายของมหิษาสูรไม่ไหว จึงต้องอัญเชิญพระแม่อุมาเทวีมาปราบ ซึ่งพระแม่อุมาเทวีก็ใช้ร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา” ซึ่งเป็นร่างอวตารของพระแม่อุมาที่มีไว้สำหรับปราบอสูรโดยเฉพาะ เนื่องจากมีพละกำลังมาก และเก่งในการสู้รบ

 

พระแม่ทุรคา ร่างอวตารของพระแม่อุมา ทำการสู้รบกับมหิษาสูรตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน และสามารถสังหารมหิษาสูร หรืออสูรควายได้สำเร็จในวันที่ 10 จึงทำให้เหล่าทวยเทพและมนุษย์ร่วมกันจัดพิธีขึ้นเพื่อบูชาองค์พระแม่อุมาเทวีสำหรับชัยชนะในครั้งนี้ และกลายมาเป็นเทศกาลนวราตรีฉลองการสู้รบขององค์พระแม่อุมาสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน

 

 

ในการจัด พิธีนวราตรี โดยทั่วไปของชาวฮินดู จะเป็นการบูชาองค์พระแม่อุมาเทวีทั้ง 9 ปาง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า การบูชาพระแม่อุมาเทวีในช่วงนวราตรีจะทำให้พรที่ขอประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่พระแม่อุมาเทวีลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพรให้เหล่าสาวกด้วยจิตใจที่เมตตาเป็นพิเศษ

 

สำหรับในประเทศไทย งานนวราตรี จะจัดที่วัดแขก สีลม หรือ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ระหว่างวันที่ 14 – 26 ต.ค. 2566 โดยการจัดขบวนแห่บูชาพระแม่อุมาเทวีของชาวฮินดูในประเทศไทยจะมีความแตกต่างจากที่อื่นเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติจะเป็นการแห่พระแม่อุมา 9 ปาง แต่ในประเทศไทยจะเป็นการจัดขบวนแห่บูชาเทพฮินดู 8 ขบวน ดังนี้

 

1. ขบวนคนทรงองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี

2. ขบวนคนทรงองค์พระขันทกุมาร

3. ขบวนคนทรงองค์พระแม่กาลี

4. ขบวนราชรถองค์พระพิฆเนศวร

5. ขบวนราชรถองค์พระขันทกุมาร

6. ขบวนราชรถองค์พระกฤษณะ

7. ขบวนราชรถองค์พระกัตตวรายัน

8. ขบวนราชรถองค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวตี

 

และก่อนที่จะเริ่มขบวนแห่ งานนวราตรี 2566 จะมีพิธีทุบมะพร้าวเพื่อบูชาองค์พระแม่อุมาก่อน เป็นการแสดงออกว่าผู้ศรัทธานั้นได้ละทิ้งอัตตาของตัวเอง เพื่อถวายแด่เทพเจ้า เพราะมะพร้าวเป็นผลไม้แห่งความบริสุทธิ์ในความเชื่อของชาวฮินดูเนื่องจากน้ำมะพร้าวนั้นถูกกักเก็บในผลไม่เจอกับสิ่งเจือปนด้านนอก

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ