Lifestyle

33 ปี 'สืบ นาคะเสถียร' นักอนุรักษ์ ผู้รัก ป่าไม้-ธรรมชาติ เปิดสัญลักษณ์ใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รำลึก 33 ปี 'สืบ นาคะเสถียร' นักอนุรักษ์ไทย ผู้รัก ป่าไม้ และ ธรรมชาติ ด้วยกาย วาจา และใจ พร้อมเปิดภาพสัญลักษณ์ใหม่

1 ก.ย. วันสืบนาคะเสถียร วันที่รำลึกถึง 'สืบ นาคะเสถียร' นักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่รัก ป่าไม้ และ ธรรมชาติ ด้วยกาย วาจา และใจ ผู้ที่แลกชีวิตของตนเอง เพื่อปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้ตื่นขึ้น ให้รับทราบความเป็นไปของสถานการณ์ป่าไม้ และ สัตว์ป่าเมืองไทย ในปี 2566 นี้ จะครบรอบ 33 ปี ของการจากไปของ 'สืบ นาคะเสถียร' ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นจริงจังใน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายหลังการเสียชีวิต 18 วัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2533 วันเดียวกับการครบรอบ 94 ปีของกรมป่าไม้ หน่วยงานต้นสังกัดของนักอนุรักษ์นี้

 

 

33 ปี สืบ นาคะเสถียร

 

'สืบ นาคะเสถียร' เกิดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2492 เป็นนักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย มีชื่อเสียงจากการพยายามปกป้อง แก่งเชี่ยวหลาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีชื่อเดิมว่า "สืบยศ" มีชื่อเล่นว่า "แดง" เกิดที่ตำบลท่างาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของ นายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กับ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน ตนเองเป็นคนโต สมรสกับ นิสา นาคะเสถียร มีบุตรสาวหนึ่งคน

 

 

'สืบ นาคะเสถียร' มีบุคลิกเอกลักษณ์อุดมการณ์คล้ายคลึงเหมือน จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียน เป็นอย่างมาก

 

 

สัญลักษณ์ 33 ปี 'สืบ นาคะเสถียร'

 

ทุกๆ ปี ในวาระ รำลึก 'สืบ นาคะเสถียร' ระหว่าง เดือน ส.ค. - ก.ย. บนหน้าโซเชียลมีเดียต่างๆ ขององค์กรจะปรับภาพโปรไฟล์ใหม่ เปลี่ยนจากตราสัญลักษณ์เดิมที่ใช้มาตั้งแต่วันก่อตั้ง เป็นสัญลักษณ์ที่จัดทำขึ้นพิเศษในปีนั้นๆ

 

แต่ละปีสัญลักษณ์ที่ใช้จะแตกต่างกันตามแต่วาระ ธีมคอนเส็ปต์ เรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร บางครั้งอาจมาจากเบื้องหลังการทำงาน ภารกิจและยุทธศาสตร์องค์กร หยิบยกเอาความคิดมาจัดวาง แล้วดีไซน์เป็นรูปร่าง

 

เช่นเดียวกับ สัญลักษณ์ 33 ปี สืบ ก็ถูกคิดและออกแบบมาจากสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก่อนจะปรับลดให้เหลือสาส์นสำคัญ

 

สำหรับ สัญลักษณ์ 33 ปี ผู้ออกแบบ น.ส.จารุวรรณ กุณาเลย (เจ้าหน้าที่ออกแบบของที่ระลึก) ตั้งต้นไอเดียจากเรื่องราวของการเดินทาง ซึ่งเป็นช่วงระหว่าง 33 ปีที่ผ่านมา กับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 34 ในเวลาต่อไป

 

33 ปีที่ผ่านมา คือ การหยิบเอาบางส่วนของสัญลักษณ์ดั้งเดิมมาใช้ (กวางผาโผนสู่เปลวเพลิงบนใบปอสาในฉากราตรีประดับดาว) โดยนำกวางผา ดวงดาว และเปลวไฟ มาประกอบเป็นตัวเลข 33

 

ส่วนการก้าวเข้าสู่ปีต่อไป คือรูปทรงที่นำมาจัดวางใหม่ ใช้โครงสร้างของตัวเลข 33 เป็นองค์ประกอบหลัก

 

เลข 3 ตัวแรกเป็นภาพกวางผากำลังหันเหลียวไปทางด้านหลัง ย้อนมองไปถึงวันเวลาที่ผ่านมา ทบทวนสิ่งต่างๆ ในอดีต งานที่สืบทำ ภารกิจสืบทอดเจตนา อันเป็นบทเรียนที่ควรค่าแก่การรักษาเจตนารมย์นั้นไว้

 

เลข 3 ตัวที่สอง ประกอบด้วยเปลวไฟ โดยอิงความหมายเดิม อุปสรรคที่จะต้องฟันฝ่า กล้ากระโดดผ่านแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเปลวเพลิง เพราะอย่างไรเสียก็คงปฏิเสธมิได้ว่างานอนุรักษ์ในอนาคตยังคงมากด้วยอุปสรรคอันร้อนแรงไม่ต่างจากเปลวเพลิงรออยู่

 

ระหว่างเลข 3 ทั้งสองตัว ประกอบด้วยดวงดาวที่สื่อตามความหมายเดิม หมายถึง เส้นทางแห่งกาลเวลาซึ่งประกอบ ไปด้วยอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เชื่อมร้อยด้วยการออกแบบให้เป็นรูปทรงกลม ที่เปรียบกับการหมุนวนของวัฏจักรชีวิตในระบบนิเวศ

 

นอกจากนี้ การออกแบบสัญลักษณ์ 33 ปี ยังอิงความหมายของการเปลี่ยนแปลงภารกิจที่อาจมีขึ้นในอนาคต 

 

เนื่องจากในปี 2566 นี้ เป็นปีสิ้นสุดยุทธศาสตร์ 4 ปี การทำงานขององค์กร และในช่วงปลายปีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะปรับปรุง หลักการ ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ในเชิงรายละเอียดขึ้นใหม่ สร้างบทบาทการทำงานอนุรักษ์ขององค์กรให้เหมาะสมกับยุคสมัย

 

แต่ไม่ว่าในอนาคตกลยุทธ์การทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภารกิจงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าไม้และสัตว์ป่า ก็ยังคงเป็นสิ่งที่องค์กรยึดมั่นตามเจตนารมย์ของ 'สืบ นาคะเสถียร' สืบต่อไป

 

 

สัญลักษณ์ 33 ปี สืบ นาคะเสถียร

 

 

รำลึก 33 ปี 'สืบ นาคะเสถียร'

 

ในปีนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงจัดกิจกรรมรำลึก โดยคงไว้ซึ่งกิจกรรมทั้งภาคป่าและภาคเมือง ทั้งที่ห้วยขาแข้ง และที่กรุงเทพฯ เหมือนเช่นที่ผ่านมา

 

และถึงแม้จะเรียกว่าเป็นงาน 'รำลึก' แต่เนื้อหาของกิจกรรม จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของการดูแลทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในปัจจุบัน หรือก็คืองานที่มูลนิธิสืบฯ กำลังดำเนินการ และได้ให้ความสำคัญมานับตั้งแต่วันก่อตั้งองค์กร

 

หรือกล่าวอีกนัย คืองาน 'รำลึก' และ 'ต่อยอด' จากสิ่งที่สืบสร้าง สู่งานสานต่อมาจนถึงทุกวันนี้

 

เจตนารมย์ของ 'สืบ นาคะเสถียร' ในวันนั้น ได้รับการสานต่อมาถึงตอนนี้อย่างไร งานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร จะมีเวทีบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นเนื้อหาสำคัญ

 

 

ข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ