Lifestyle

วีรกรรม ‘ผู้ว่าหมูป่า’ ผู้ถ่อมตัว แค่ จิ๊กซอว์คนสุดท้าย ของคนนับหมื่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนวีรกรรม ปฏิบัติการค้นหาเพื่อช่วยเหลือ13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี ติดถ้ำหลวง เมื่อ 5 ปีก่อน ‘ผู้ว่าหมูป่า’ นั่งผู้บัญชาการทีมกู้ภัยเฉพาะกิจ จนภารกิจสำเร็จ

การหายตัวไปของทีมหมูป่าอะคาเดมี เมื่อ 5 ปีก่อน ‘ผู้ว่าหมูป่า’ หรือ 'ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร' ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในขณะนั้น นั่งผู้บัญชาการทีมกู้ภัยเฉพาะกิจ ระดมสรรพกำลังจากทุกมุมโลก ร่วมกันค้นหา ด้วยความพยายามของคนเรือนหมื่นอาสาลงไปช่วยเหลือจนภารกิจลุล่วง

 

23 มิ.ย. 2561 ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน และนักฟุตบอลเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย เดินทางมาฝึกซ้อมฟุตบอลที่สนามบ้านจ้อง ตำบลโป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังจากฝึกซ้อมฟุตบอลเสร็จ ทั้งผู้ช่วยผู้ฝึกสอน อายุ 26 ปี 1 คน และนักฟุตบอลเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย อายุระหว่าง 11-16 ปี 12 คน รวม 13ชีวิต ทั้งหมดติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

 

ในวันเดียวกัน ทีมกู้ภัยของมูลนิธิสยามรวมใจแม่สาย และศูนย์วิทยุ 191 สภ. แม่สาย ได้รับแจ้งเหตุว่ามีเด็กหายตัวเข้าไปในถ้ำหลวง จึงได้ประสานงานส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจในพื้นที่ เข้าไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2561 เป็นการค้นหาภายในถ้ำหลวง เป็นครั้งแรก และพบรองเท้าแตะและของจำนวนหนึ่ง แต่ต้องถอยออกมาเมื่อระดับน้ำในถ้ำหลวงสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

ปฏิบัติการค้นหา 13หมูป่า ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความสนใจจากสื่อทุกมุมโลก ในครั้งนั้นมีการประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยทำลายใต้นำจู่โจม ได้ส่งทีมประดาน้ำชุดแรกเข้าไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 24 มิ.ย. 2561

ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

 

การค้าหาทีมหมู่ป่า มี ผู้ว่าหมูป่า เป็นผู้บัญชาการทีมกู้ภัยเฉพาะกิจ มีผู้เข้าร่วมช่วยชีวิตกว่า 10,000 คน รวมถึงนักดำน้ำกว่า 100 คน นักกู้ภัยจำนวนมาก ตัวแทนจากภาครัฐ 100 แห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ 900 นาย และทหาร 2,000 คน รวมทั้งจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ตำรวจสิบลำ, รถพยาบาลตำรวจเจ็ดคัน, ถังดำน้ำมากกว่า 700 ถัง และสูบน้ำมากกว่าหนึ่งพันล้านลิตรออกจากถ้ำหลวง

 

2 ก.ค. 2561 หลัง 17 วันผ่านไป ผู้ว่าหมูป่า แถลงอย่างเป็นทางการว่าพบผู้ประสบเหตุ 13 หมูป่าแล้ว ทั้งหมดปลอดภัยดีอยู่บริเวณที่เรียกว่า ‘เนินนมสาว’ เลยพัทยาบีชไปอีกประมาณ 300-400 เมตร 

 

จากนั้นทีมค้นหา ได้เริ่มลำเลียงผู้ติดถ้ำหลวงออกมาจนครบทุกคนได้สำเร็จ รวมระยะเวลาปฏิบัติภารกิจทั้งสิ้น 17 วัน 4 ชั่วโมง 29 นาที

 

ผู้ว่าหมูป่า สั่งงาน สั้น ง่าย ครบถ้วน

 

วีรกรรม ผู้ว่าหมูป่า ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติถึงการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ เสียสละทุมเท ท่ามกลางการทำงานที่ต้องแข่งขันกับเวลาและธรรมชาติ ในการค้นพบทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิต เพื่อกู้ชีพและพาทุกคนกลับบ้านอย่างปลอดภัย

 

เป็นงานที่ยากลำบากในทุกขั้นตอน ต้องอาศัยความเด็ดขาด ความละเอียดอ่อนรอบคอบ และเอาใจใส่ เพื่อให้ทุกฝ่ายปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

"ขอให้คิดว่าคนที่ติดอยู่ในถ้ำ  คือลูกๆ ของพวกเรา” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร กล่าวย้ำกับเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมค้นหาทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิต

 

วีรกรรม ‘ผู้ว่าหมูป่า’ ผู้ถ่อมตัว แค่ จิ๊กซอว์คนสุดท้าย ของคนนับหมื่น

ตลอดการทำงาน 17 วัน ผู้ว่าหมูป่า ทำให้คนไทยทุกคน รวมทั้งชาวต่างชาติ ได้เห็นถึงภาวะผู้นำ มีความเด็ดขาด ในการทำงาน และใช้ทุกวินาทีในการทำงานเพื่อช่วยทีมหมูป่าให้มีค่ามากที่สุด ด้วยความสามารถและมากประสพการณ์ และนั้นเป็นที่มาของคำว่า ‘ผู้ว่าหมูป่า’ 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ตลอดเวลาปฏิบัติการค้นหาทีมหมูป่า ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ได้สั่งงานได้อย่างเฉียบขาด ด้วยพื้นฐานวิศวกรโยธา

 

สั่งงาน สั้น ง่าย ครบถ้วน แบบวิศวกรโดยแท้ บนรากฐานการศึกษาปริญญาตรีถึง 4 ใบ วิศวะโยธา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ และปริญญาโท 2 ใบ แต่หนึ่งในนั้นคือด้านการสำรวจ เฉพาะทาง Geodetic and Surveying หรือสำรวจทางภูมิศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา 

 

นอกจากมีภาวะผู้นำสูงแล้ว ผู้ว่าหมูป่า มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้าน จีโอดีติกเซอร์เวย์ แบบมองทะลุพื้นที่ถ้ำอยู่ในสมองในวินาทีนี้อย่างมาก ผสมกับพื้นฐานวิศวกรรมโยธาที่มองและเข้าใจพื้นฐานระบบการระบายน้ำแบบทะลุปัญหาทุกปัญหาที่มี

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือ ผู้ว่าหมูป่า

 

เสร็จภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่า ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในการรับมือวิกฤตที่ถ้ำหลวง มาปรับใช้กับการบริหารราชการจังหวัดพะเยา และรับหน้าที่เป็นวิทยากรและเป็นอาจารย์สอนพิเศษในสถานศึกษา และส่วนราชการอีกด้วย

 

“ชีวิตของผมเปลี่ยนไป จากข้าราชการคนหนึ่งที่ไม่ได้โดดเด่นมากนัก เราก็ทำงานตามหน้าที่ของเรา แต่ตอนนี้เราเดินไปไหนก็มีแต่คนรู้จัก แต่จริง ๆ มันเป็นดาบสองคม ถ้าวันนั้นภารกิจไม่สำเร็จ คนก็จะจำภาพว่าผมเป็นคนที่ล้มเหลว”

วีรกรรม ‘ผู้ว่าหมูป่า’ ผู้ถ่อมตัว แค่ จิ๊กซอว์คนสุดท้าย ของคนนับหมื่น

 

ว่ากันว่า เมื่อครั้ง ผู้ว่าหมูป่า ไปรับรางวัล Asia Game Changer Award 2018 เขาพูดว่า คนหมื่นกว่าคนควรจะมารับรางวัลนี้ พร้อมบอกว่า มันเป็นภารกิจที่คนที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาร่วมด้วยช่วยกัน

 

“องค์กรกว่า 400 องค์กรจาก 20 กว่าประเทศ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่หน่วยต่าง ๆ เต็มใจมาช่วย คนเหล่านี้ไม่มีใครรู้จักเด็กเลย เขามาช่วยด้วยใจจริง ๆ โดยไม่ได้หวังชื่อเสียง ความหวังเดียวที่มีคือภารกิจสำเร็จและทุกคนปลอดภัย”

 

ผู้ว่าหมูป่า ถ่อมตัวว่า เขาเป็นเพียง “คนต่อจิ๊กซอว์คนสุดท้าย” ของความพยายามจากคนนับหมื่น พอประสบความสำเร็จเสร็จ เครดิตจะตกไปอยู่กับคนที่ทุกคนรู้จักหรือเห็นหน้า โดยผมเองเป็นเหมือนคนต่อจิ๊กซอว์คนสุดท้าย ผมอยากให้เครดิตกับคนทุกคน

 

พระเอกจริง ๆ ของภารกิจนี้ก็คือคนที่ช่วยให้ภารกิจเกิดขึ้นได้ และอยู่เบื้องหลัง คืออาสาสมัครและจิตอาสาทุกคน ไม่ใช่หน่วยราชการหรือคนที่คนทั่วไปเห็นหน้าเลย”

 

วิถีชีวิต ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร บนเส้นทางข้าราชการไทย ไม่อาจรอดพ้นจากการแต่งตั้งโยกย้าย จากผู้ว่าฯเชียงราย  ได้รับความไว้วางใจให้มาเป็น ผู้ว่าฯพะเยา เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นกระทรวงมหาดไทยยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็มีคำสั่งย้านให้มาสร้างปรากฏการณ์ที่จ.ลำปางในฐานะผู้ว่าฯลำปาง ถูกประกาศให้ลำปางเป็นพื้นที่ปลอดโควิด 100 %

 

ล่าสุด ผู้ว่าหมูป่า ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าฯปทุมธานี ในช่วงที่พรรคพลังประชารัฐกำลังเฟ้นหาคนดี คนเก่ง มากความรู้ ความสามารถ มาลงสนามกรุงเทพมหานคร ในศึกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. เมื่อเดือนพ.ค.2565 แต่ ผู้ว่าหมูป่า ปฏิเสธมือดีลพรรคพลังประชารัฐอย่างนุ่มนวล แบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น 

 

“ผมดีใจที่ได้ทำหน้าที่เป็น 1 ในล้านคน ที่ทุ่มเททำงานเพื่อปทุมธานีในฐานะพ่อเมือง ผมภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นข้าราชการที่ดี ผมยึดมั่นใจพระราชดำรัสให้เราเป็นคนดี เป็นข้าราชการที่ดี

 

อายุราชการผม เหลืออีก 3 ปี ผมมาถึงในจุดที่เป็นดวงอาทิตย์ใกล้อัสดง บ้านเมืองต้องส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ดังนั้นผมจึงอยากทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด"

 

จนนาทีสุดท้ายของชีวิตของ 'ผู้ว่าหมูป่า' ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพ่อเมืองปทุมธานี แต่ด้วยโรคร้ายรุมเร้า ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อ ร่างกายซูมผอมด้วยโรคมะเร็งลำไส้ ต้องเข้า-ออก โรงพยาบาลศิริราช อยู่เนื่องๆ จนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง อายุเพียง 58 ปี เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566

 

วันรุ่งขึ้น(22 มิ.ย. 2566) เวลา 13.00 น. มีการเคลื่อนศพ ผู้ว่าหมูป่า ออกจากโรงพยาบาลศิริราช ไปยังวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ จากนั้นเวลา 17.45 น. จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

 

 หลับให้สบาย ฮีโร่ถ้ำหลวง ในดวงคนไทยทุกคน

...กมลทิพย์ ใบเงิน...เรียบเรียง

ขอบคุณที่มา : วีกิพีเดีย,บีบีซีไทย,เนชั่นทีวี

 

logoline