23 พ.ค. 'วันเต่าโลก' เปิด 10 ข้อน่ารู้ ปลูกจิตสำนึกร่วมกันอนุรักษ์เต่า
23 พ.ค. 'วันเต่าโลก' (World Turtle Day) เปิด 10 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับ เต่า และร่วมปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์เต่า
'วันเต่าโลก' (World Turtle Day) ตรงกับวันที่ 23 พ.ค. ของทุกปี ถูกกำหนดโดยองค์กร American Tortoise Rescue ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือ เต่าบก และ เต่าทะเล โดยจุดประสงค์ของ วันเต่าโลก คือ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเต่า รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมกันอนุรักษ์เต่า
เต่า จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานซึ่งเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มแรกที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาดำรงชีวิตบนบกอย่างแท้จริง ไม่ต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีวิตมากเท่ากับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แม้ว่าเต่าจะอายุยืน มีกระดองแข็งปกคลุม แต่เต่าก็เป็นสัตว์น่าสงสาร เต่าบางชนิดใกล้สูญพันธุ์เต็มที เช่น เต่าตนุ เต่ามะเฟือง
ปัญหาที่ทำให้เต่าลดจำนวนลง เช่น อัตรารอดของลูกเต่าในธรรมชาติมีน้อยมาก ติดเครื่องมือประมง ชายหาดซึ่งเคยเป็นที่วางไข่ถูกทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างที่อยู่อาศัย ขยะทะเลโดยเฉพาะถุงพลาสติกที่เต่าแยกไม่ออกว่าเป็นแมงกระพรุนหรือถุงพลาสติก กิจกรรมต่างๆ ในทะเล
10 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับ เต่า
1. อุณหภูมิส่งผลต่อเพศ ไม่ว่าลูกเต่าทะเลที่เพิ่งฟักจะเกิดมาเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย มันต่างก็ถูกกำหนดโดยอุณหภูมิของบริเวณรัง หากอุณหภูมิสูงกว่าจุดที่ส่งผลต่อการเพาะฟักไข่เต่า หรือ "pivotal temperature" (28-29 องศาเซลเซียส) เต่าที่เกิดมาจะเป็นเพศเมีย และถ้าต่ำกว่า ก็จะเป็นเพศผู้ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้เต่าที่เกิดมาเป็นเพศเมียในอัตราส่วนที่มากกว่าเพศผู้ ยิ่งทำให้อัตราการเกิดของเต่ายิ่งน้อยลงไปด้วย
2. เต่าบก vs เต่าน้ำจืด vs เต่าทะเล ไม่ใช่เต่าทุกชนิดที่ว่ายน้ำได้ เต่าบกว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าปล่อยลงน้ำจะจม เนื่องจากกระดองเต่ามีน้ำหนักมาก ส่วนเต่าน้ำจืดว่ายน้ำได้ แต่ต้องการพื้นดินไว้พักในการว่ายน้ำด้วย และเต่าทะเลอาศัยอยู่ในทะเล ยกเว้นตอนวางไข่ จะขึ้นมาวางไข่บนบก
3. ทั่วโลกมีเต่าทะเลเพียง 7 ชนิด และมีเพียง 5 ชนิดที่พบในไทย ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน เต่ามะเฟือง เต่าหลังแบน และเต่าหญ้าแคมป์ ไม่พบในไทย
4. เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง ชื่อแดนทิศอุทัย มาจากประเทศศิวิไลซ์ แต่เป็นเอเลี่ยนในประเทศไทย หากคุณพบเต่าที่มีหน้าตาแบบนี้โปรดจงรู้ไว้ว่ามันไม่ใช่เต่าในประเทศไทย แต่เป็นเต่าต่างถิ่น
5. อายุเต่าที่มากที่สุด เต่าทะเลและเต่าบกขนาดใหญ่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานมาก เต่าสามารถมีอายุได้ถึง 150 ปีหรือมากกว่านั้น บางคนประมาณว่าเต่าตัวใหญ่อาจมีอายุยืน ราว 400 ถึง 500 ปี!
6. ทุกครั้งที่คุณได้ยินเสียง raptor ในเรื่อง Jurassic Park นั่นหมายความว่าคุณกำลังฟังเสียงเต่าตอนกำลังมีเพศสัมพันธ์กันอยู่
7. ไม่ใช่เต่าทุกชนิดกินพืช บางชนิดก็กินเนื้อ บางครั้งกินมูลของสัตว์อื่น
8. เต่าทุกตัววางไข่บนบก ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลหลายพันไมล์ เต่าก็จะกลับมาวางไข่ในที่ที่มันเกิด เพราะเต่ามีเข็มทิศในตัว ทำให้มันสามารถจำทางกลับบ้านได้
9. เต่าไม่สามารถคลานออกจากกระดองได้ เพราะกระดองคือกระดูกที่ต่อเข้ากับกระดูกสันหลัง และกระดูกซี่โครง กระดูกหน้าอก และกระดูกหัวไหล่บางส่วน ทำให้กระดูกเหล่านี้ถูกยึดติดกับกระดอง ทั้งกระดองหลังและกระดองท้องของเต่า
10. เต่ามะเฟืองเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุด ดำน้ำได้ลึกที่สุด ยาวได้ถึง 2 เมตร หนักถึง 600 kg สามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 1,000 เมตร
ข้อมูล : สสวท. / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร