ทุกวันที่ 13 เม.ย. ของทุกปี นอกจากจะเป็น วันสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทย แล้ว ยังถือเป็น “วันผู้สูงอายุ” อีกด้วย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ เพราะถือเป็นเสมือนวันรวมญาติ และได้เลือก “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ ส่วน วันผู้สูงอายุ 2566 ตรงกับวันพฤหัสบดี
“ผู้สูงอายุ” ในความหมายนั้น หมายถึง วัยชรา บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิง หรือมนุษย์ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของชีวิต ผู้สูงอายุ คือวัยที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ส่วนวันผู้สูงอายุ คือ วันที่รวมญาติ ลูกๆ หลานๆ มาเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย
คำขวัญ “วันผู้สูงอายุ”
คณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลก ของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญเป็นภาษาไทย ว่า “ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน” ในขณะที่องค์การอนามัยโลก กำหนดคำขวัญภาษาอังกฤษว่า Add life to years
ในปี 2525 ซึ่งถือว่าเป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติ ได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการศึกษา และด้านการพัฒนา
ส่วนในประเทศไทย รัฐบาลในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ เพราะเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะให้ลูกหลานได้กลับมารวมตัวกัน ในวันสำคัญเช่นนี้ ครม. จึงได้มีมติอนุมัติให้วันที่ 13 เม.ย. ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ
ดอกลำดวน สัญลักษณ์ผู้สูงอายุ
“ลำดวน” เป็นไม้ที่อายุยืน ไม่ทิ้งใบ จึงเขียวชอุ่มให้ร่มเงาตลอดปี ดุจดังผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นที่พึ่งให้ความร่มเย็นแก่ลูกหลานเสมอ นอกจากนั้น ดอกลำดวนยังมีกลิ่นหอม กลีบดอกแข็งแรง ไม่ร่วงง่าย เปรียบได้กับผู้สูงอายุที่ทรงคุณธรรม ความดีงาม ไว้เป็นแบบอย่างแก่สังคมเสมอมา
ทั้งนี้ ต้นลำดวน เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุอีกด้วย
กิจกรรมวันผู้สูงอายุ
ทำบุญตักบาตร
- ในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธ จะมีการทำบุญตักบาตร ที่ถือเป็นกิจกรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุ
มอบโล่ และเกียรติบัตร
- มอบโล่และเกียรติบัตรให้แก่ ครอบครัวของผู้สูงอายุ ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม หรือทำกิจกรรมที่สร้างความตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของสังคม มอบรางวัลแด่ผู้สูงอายุดีเด่น และผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นจิตอาสาดีเด่นด้วย
พิธีรดน้ำดำหัว
ส่วนใหญ่ตามเทศบาลต่างๆ ที่จัดงานวันผู้สูงอายุ จะจัดเป็นพิธีการขึ้น มีแขกผู้มีเกียรติ และชาวบ้าน รวมถึงข้าราชการ มาร่วมกัน รดน้ำดำหัว ขอพรผู้สูงอายุ ที่เป็นตัวแทน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ
การแสดงของผู้สูงอายุ
- ในหลายๆ ที่ จะจัดการแสดงของชมรมผู้สูงอายุ เพื่อให้ในวันผู้สูงอายุ เป็นไปอย่างสมบูรณ์ และทำให้ผู้สูงอายุ มีความสุข
นอกจากนี้ ในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. รวมถึง รถไฟฟ้า BTS ยังเปิดให้บริการ สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป นั่งฟรีตลอดวัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 13-15 เม.ย. เพียงแสดงบัตรประชาชนแก่พนักงาน ซึ่งในแต่ละปี อาจจะไม่เหมือนกัน
สรุป
การจัดให้มีวันผู้สูงอายุ เพื่อให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ที่ประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง