Lifestyle

1 เมษายน 'วันเลิกทาส' 118 ปี ที่ไทยไม่มี ทาส กับเรื่องที่ควรรู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

1 เมษายน ของทุกปี ถูกประกาศให้เป็น 'วันเลิกทาส' เพื่อย้อนระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5 ที่ทำให้ไทย ไม่มีทาส มา 118 ปี

วันที่ 1 เม.ย. ของทุกปี นอกจากจะเป็นวัน April Fools Day หรือ วันโกหก แล้ว หลายคนคงไม่รู้ว่า ยังเป็น “วันเลิกทาส” ด้วย การเลิกทาส เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นการยกเลิกระบบที่คนชั้นสูงตั้งขึ้น เพื่อกดขี่ราษฎร ให้ทำงานรับใช้ หรือส่งทรัพย์สินให้ โดยไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

 

 

ซึ่งปีนี้ “วันเลิกทาส” ตรงกับวันเสาร์ที่ 1 เม.ย.2566 มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทำไมในอดีต ไทยต้องมีทาส คมชัดลึก รวบรวมข้อมูลมาเป็นความรู้

วันเลิกทาส

ประวัติความเป็นมา “วันเลิกทาส”

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประมาณว่า ไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ก็ตกเป็นทาสอีกต่อๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

 

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศ "พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย" เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลง ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัว เมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปี เป็นทาสอีก

 

วันเลิกทาส

เมื่อถึงปี 2448 ก็ทรงออก "พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก 124" ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว

 

ราคาทาส

 

      อายุทาส (ปี)          ชาย               หญิง

  • แรกเกิด               5 บาท            4 บาท
  • 7–8                    8 ตำลึง           7 ตำลึง
  • 10                     4 บาท              3 บาท

 

ทาส มี 7 ประเภท (ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา)

 

  1. ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา หรือขายตัวเอง ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัว หรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน และทาสชนิดนี้ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยคือนางสายทอง ซึ่งขายตัวให้กับนางศรีประจันนั่นเอง
  2. ทาสในเรือนเบี้ย เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้ 
  3. ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป 
  4. ทาสท่านให้ ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่น 
  5. ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ในกรณีที่บุคคลนั้น เกิดกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้น ไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ 
  6. ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส .
  7. ทาสเชลย ภายหลังจากได้รับการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้

 

วันเลิกทาส

 

การพ้นจากความเป็นทาส

 

  • โดยการหาเงินมาไถ่ถอน
  • การบวชเป็นสงฆ์โดยได้รับความยินยอมจากนายทาส
  • ไปการสงครามและถูกจับเป็นเชลย หลังจากนั้น สามารถหลบหนีออกมาได้
  • แต่งงานกับนายทาสหรือลูกหลานของนายทาส
  • ไปแจ้งทางการว่านายทาสเป็นกบฏ และผลสืบสวนออกมาว่าเป็นจริง
  • การประกาศไถ่ถอนจากพระมหากษัตริย์ ในช่วงของการเลิกทาส ปี 2448 ได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 (พ.ศ. 2448)

 

 

ดังนั้น ทุกวันที่ 1 เม.ย. ของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันเลิกทาส” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้มีการเลิกทาสนับแต่นั้นมา ไทยจึงเป็น ‘ไท’ จนถึงทุกวันนี้

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย, พระนครศรีอยุธยา

 

logoline