Lifestyle

25 กุมภาฯ 'วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ' เปิด 6 คุณค่าทางการศึกษาของวิทยุ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

25 กุมภาพันธ์ 'วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ' เปิดที่มาของการเกิด วิทยุกระจายเสียง พร้อม 6 คุณค่าทางการศึกษาของวิทยุ

'วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ' ตรงกับ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันที่ประเทศไทยมีการกระจายเสียงทางวิทยุเป็นครั้งแรก

 

 

วิทยุกระจายเสียง เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญ ในกระบวนการสื่อสาร และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสาร วิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคุลมได้กว้างไกลและทั่วทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนมาโดยตลอดตราบจนปัจจุบัน

 

กิจการ วิทยุกระจายเสียง ในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 ด้วยพระดำริของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และโทรคมนาคม พระองค์ทรงดำริตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น เมื่อพ.ศ.2471 โดยสั่งเครื่องส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง และให้อยู่ในความควบคุมของช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ตั้งสถานีที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อสถานีว่า "4 พีเจ" (HS 4 PJ)

 

 

ต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ ขึ้น ทำการทดลองที่ตำบลศาลาแดงใช้ชื่อสถานีว่า "หนึ่ง หนึ่ง พีเจ" (HS 11 PJ) ซึ่งการใช้ชื่อสถานีว่า "พีเจ" ในยุคนั้น ย่อมาจากคำว่า "บุรฉัตรไชยากร" อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่านนั่นเอง

 

 

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" (Radio Bangkok at Phyathai) ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์

 

วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

 

พิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย เข้าเครื่องส่งแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร ความว่า "การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษาการค้าขายและการบันเทิง แก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราได้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดั่งที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ดั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีมาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป"  นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

 

 

ต่อมา วันที่ 1 มกราคม 2484 กรมโฆษณาการ (เปลี่ยนชื่อมาจากสำนักงานโฆษณาการ) ได้เปลี่ยนชื่อเรียกสถานีวิทยุจากเดิม "สถานีวิทยุกรุงเทพฯที่พญาไท" หรือ Radio Bangkok at Phyathai เป็น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือ Radio Thailand มีฐานะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ ภายหลังและกรมโฆษณาการหาที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงได้ใหม่ที่ ซอยอารีย์ แขวงสามเสนใน กรุงเทพฯ จึงได้ตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ณ ที่แห่งใหม่นี้

 

 

คุณค่าทางการศึกษาของวิทยุ

 

1. ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษา จากการฟังรายการทุกประเภท เนื่องจากรายวิทยุส่วนใหญ่จะใช้ภาษาถูกต้องตามหลักภาษาและแบบแผนของทางราชการ

2. ให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยอาศัยเทคนิคของวิทยุ เช่น การพูดจูงใจการใช้เสียงดนตรี เสียงประกอบ การเสนอซ้ำๆ

3. เปิดโอกาสให้นำวิทยากรผู้มีชื่อเสียงหรือผู้ชำนาญการสอน ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้รับจำนวนมากพร้อมกัน

4. ปลูกฝังความรู้สึกด้านคุณธรรม ค่านิยมต่างๆ ได้ดี เช่น ความรักชาติ ตลอดจนค่านิยมทางศาสนาและจริยธรรมต่างๆ

5. คุณสมบัติด้านเสียงของวิทยุเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการสอนด้านภาษา ขับร้องดนตรี

6. ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากสามารถรับฟังได้ทุกเวลา ทุกสถานที่

 

 

จากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 จนถึงปัจจุบัน วิทยุกระจายเสียง มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงมาตามลำดับ ดังนั้นหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญแล้ว กิจการวิทยุกระจายเสียงจะเจริญก้าวหน้า เพิ่มพูนคุณประโยชน์และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้สังคมไทยได้ตลอดไป

 

 

วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

 

 

ที่มา : stkc

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ