
24 กุมภาพันธ์ 'วันศิลปินแห่งชาติ' วันส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีความสามารถ
24 กุมภาพันธ์ 'วันศิลปินแห่งชาติ' วันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นวันที่ส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีความสามารถ
'วันศิลปินแห่งชาติ' ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งนับถือกันว่า ทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรม
ทรงอุปถัมภ์บำรุงศิลปกรรมแขนงต่างๆ ตลอดจนทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยพระองค์ เพื่อรำลึกถึงพระองค์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น 'วันศิลปินแห่งชาติ'
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านด้านดนตรี และประติมากรรม และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ จึงถือเอาวันพระราชสมภพ (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2310) เป็น 'วันศิลปินแห่งชาติ'
เอกอัครศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ผู้มีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขาทั้งทางด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมฝีมือเยี่ยมในสมัยนั้นแกะสลักบานประตูไม้พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์นับเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม ด้านวรรณกรรม ถือว่าทรงเป็นกวีเอกแห่งแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ
นอกจากนี้ ยังทรง พระราชนิพนธ์ บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในด้านวรรณกรรม ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม และเพื่อเป็นการยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ทางสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้มอบรางวัลให้แก่ ศิลปินที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติศิลปิน
ศิลปินแห่งชาติ ของประเทศไทย หมายถึงศิลปินผู้มีความสามารถ มีผลงานสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นที่ยอมรับของวงการ และมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม ศิลปินแห่งชาตินับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติจากอดีตถึงปัจจุบันและดำรงสืบไปในอนาคต
คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือก
คุณสมบัติของ ศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่อการพิจารณาเชิดชูเกียรติบุคคลด้านศิลปะ 8 ประการ ได้แก่
- มีสัญชาติไทย
- มีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ของวงการศิลปะในสาขานั้น
- เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติ
- เป็นผู้ทุ่มเท อุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
- ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
สาขาของศิลปินแห่งชาติ
มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกจำแนกศิลปินแห่งชาติออกเป็นสาขาศิลปะ 4 ด้านสาขาหลัก คือ
สาขาทัศนศิลป์
หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติ หรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่างๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์ และมีเอกลักษณ์โดดเด่น
สาขาศิลปะการแสดง
หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่ การดนตรี, นาฏศิลป์ และภาพยนตร์และละคร
สาขาดนตรี แบ่งออกเป็นสาขาดนตรีไทยและสาขาดนตรีสากล
สาขานาฏศิลป์ แบ่งออกเป็นสาขานาฏศิลป์ไทยและสาขานาฏศิลป์สากล (สาขานาฏศิลป์ตะวันตก)
ด้านศิลปะการแสดงสาขาการแสดง แบ่งออกเป็นสาขาการแสดงภาพยนตร์และสาขาการแสดงละคร
- สาขาการแสดงภาพยนตร์
- สาขาการแสดงละคร
สาขาวรรณศิลป์
หมายถึง บทประพันธ์ที่ทำให้เกิดจินตนาการ เห็นเป็นภาพมโนคติ ภาพลักษณ์ ความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น บันเทิงคดีสำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ วรรณกรรมเยาวชน หนังสือเด็กที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง
สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม
หมายถึง งานออกแบบหรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคารสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปะ และมีวิทยาการ ซึ่งแสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ. 2528) ถึงประกาศรายชื่อ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564 มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 343 ท่าน เสียชีวิตแล้ว 169 ท่าน และมีชีวิตอยู่ 174 ท่าน อาทิเช่น
- ดร. ถวัลย์ ดัชนี (จิตรกรรม)
- นายไวพจน์ สกุลนี (ไวพจน์ เพชรสุพรรณ) (เพลงลูกทุ่ง-ขับร้อง ประพันธ์)
- นางจุรี โอศิริ (นักแสดง นักพากย์ ภาพยนตร์และละคร)
- หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ผู้สร้างภาพยนตร์-ผู้กำกับการแสดง)
- นายเศรษฐา ศิระฉายา (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)
- นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล - ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง)
- นายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)
- คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) (นวนิยาย)
ที่มา : ศิลปินแห่งชาติ National Artist