Lifestyle

ส่อง 'กฎหมายสมรสเท่าเทียม' เพศไหนก็แต่งงานกันได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัจจุบันความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับกันกว้างยิ่งขึ้น ทำให้ 'กฎหมายสมรสเท่าเทียม' เป็นที่ยอมรับมากขึ้นตามไปด้วย โดยเริ่มใช้ครั้งแรก เมื่อปี 2000 ก่อนที่หลายๆ ชาติจะทยอยออกกฎหมายนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศได้รับการยอมรับมากขึ้น “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” หรือ กฎหมายที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในหลายประเทศตามไปด้วย โดย “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2000 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนที่หลายๆ ชาติจะทยอยออกกฎหมายนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วใน 31 พื้นที่ทั่วโลก ได้แก่

 

1.เนเธอร์แลนด์ : ในปี ค.ศ.2000 เนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ผ่านร่างกฎหมายให้คู่สมรสเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ โดยในปี ค.ศ.2001 คู่รักเพศเดียวกัน 4 คู่ ได้กลายเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มแรกของโลก ที่ได้แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

2.เบลเยียม : หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อปี ค.ศ.2003 รัฐสภาเบลเยียม ก็ได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี ค.ศ.2006

3.แคนาดา : ปี ค.ศ.2005 รัฐสภาแคนาดาได้ปรับเปลี่ยนกฎหมาย ว่าด้วยเรื่องการสมรสของพลเมือง โดยได้เพิ่มการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเข้าไปด้วย

4.สเปน : รัฐบาลสเปนบัญญัติกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2005 โดยให้สิทธิทั้งการแต่งงานและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

5.แอฟริกาใต้ : ปี ค.ศ.2006 รัฐสภาแอฟริกาใต้ได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียงสัดส่วน 5 ต่อ 1 ของสภา โดยได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

6.นอร์เวย์ : หลังประกาศใช้ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ในปี ค.ศ.2008 หนึ่งปีต่อมา โบสท์นิกาย Lutheran ทั่วประเทศก็ได้โหวตให้บาทหลวงในนิกาย สามารถดำเนินพิธีแต่งงานให้คู่รักเพศเดียวกันได้

7.สวีเดน : ประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2009 โดยก่อนหน้านั้น 1 เดือน สภาโบสถ์ของประเทศก็ได้มีการยื่นเรื่องให้การแต่งงานของคู่รัก LGBTIQN ถูกกฎหมาย

8.อาร์เจนตินา : ในปี ค.ศ.2010 อาร์เจนตินากลายเป็นประเทศแรกในแถบละตินอเมริกา ที่บัญญัติให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย

9.โปรตุเกส : หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อปี ค.ศ.2010 รัฐสภาโปรตุเกส ก็ได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ในปี ค.ศ.2016

10.ไอซ์แลนด์ : ปี ค.ศ.2010 รัฐสภาไอซ์แลนด์โหวตผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์

 

11.เดนมาร์ก : ก่อนจะประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2012 เดนมาร์กนับเป็นประเทศแรกที่รับรองสถานภาพคู่รัก LGBTIQN ในฐานะ Domestic Partners หรือการอยู่กินด้วยกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยยังไม่ใช่สถานะสมรส

12.อุรุกวัย : หลังประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2013 กฎหมายดังกล่าวก็ได้เริ่มดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายพันคนต่อปีเข้ามาในประเทศ

13.บราซิล : มีคู่รักจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกว่า 3,700 คู่ แต่งงานกันในปี ค.ศ.2013 หลังรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน

14.นิวซีแลนด์ : ร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ได้รับการอนุมัติจากสภาในปี ค.ศ.2013 ด้วยคะแนนเสียง 77 ต่อ 44

15.สหราชอาณาจักร (อังกฤษและเวลส์) : หลังผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2013 อดีตรองประธานาธิบดี Nick Clegg ได้ออกแถลงการณ์ว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าคุณจะรักใคร พวกเราทุกคนเท่าเทียมกัน”

16.ฝรั่งเศส : ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี 2013

17.ลักเซมเบิร์ก : รัฐสภาลักเซมเบิร์ก ประกาศให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมายในปี 2014 นับเป็นการปฏิรูปกฎหมายแต่งงานครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ปี 1804

18.สหราชอาณาจักร (สกอตแลนด์) : สกอตแลนด์ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2014 โดยหลังจากนั้น 3 ปี Episcopal หรือ นิกายศาสนาคริสต์ประจำสกอตแลนด์ ก็ได้กลายเป็นนิกายแรกในสหราชอาณาจักร ที่สามารถจัดพิธีแต่งงานให้คู่รักเพศเดียวกันได้

19.สหรัฐอเมริกา : สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2015 ดันให้แฮชแท็ก #LoveWins ขึ้นอันดับ 1 ในเทรนด์ Twitter ทั่วโลกทันที

20.ไอร์แลนด์ : ไอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันด้วยการลงประชามติของประชาชนทั่วประเทศเมื่อปี ค.ศ.2015

21.ฟินแลนด์ : กฎหมายสมรสเพศเดียวกันของฟินแลนด์ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ.2015 ริเริ่มจากการเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชน โดยมีผู้ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายกว่า 167,000 คน

22.กรีนแลนด์ : ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2015

23.โคลอมเบีย : ผ่านร่าง “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ในปี ค.ศ.2016 ด้วยเสียงโหวตในสภาสัดส่วน 6 ต่อ 3

24.มอลตา : ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2017 ด้วยเสียงโหวตในสภาเกือบจะเป็นเอกฉันท์ โดยมีเสียงคัดค้านจากทางฝั่งศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก

25.ออสเตรเลีย : ผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2017

26.เยอรมนี : ร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน ก่อนรัฐสภาจะผ่านร่างกฎหมายนี้ด้วยคะแนนเสียง 393 ต่อ 226 ในปี ค.ศ.2017

27.ออสเตรีย : ในปี ค.ศ.2010 ออสเตรียอนุญาตให้คู่รัก Gay และ Lesbian สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตหรือ Civil Partnership ได้ก่อนที่ในปี ค.ศ.2019 จะประกาศกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันมีสถานภาพสมรสได้

28.ไต้หวัน : ในปี ค.ศ.2019 ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่ประกาศใช้กฎหมายให้คู่รัก Gay และ Lesbian สามารถแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย

29.สหราชอาณาจักร (ไอร์แลนด์เหนือ) : ได้เสนอร่างกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี ค.ศ.2019 ก่อนจะถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งไอร์แลนด์เหนือนับเป็นประเทศสุดท้ายในเครือสหราชอาณาจักรที่ผ่านร่างกฎหมายนี้ และทำให้การแต่งงานของคู่รัก LGBTIQN ถูกกฎหมายทั่วทั้งสหราชอาณาจักร

30.คอสตาริกา : ผ่านกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี 2020 ซึ่งทำให้กลายเป็นประเทศแรกในแถบอเมริกากลางที่คู่รัก LGBTIQN แต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย

31.สวิตเซอร์แลนด์ : ประกาศลงประชามติผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา โดยผลการลงคะแนน ประชาชน 2 ใน 3 ที่มาใช้สิทธิ์ได้โหวตรับร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นประเทศลำดับที่ 30 ของโลกที่คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.2022 เป็นต้นไป

 

 

เนเธอร์แลนด์ ประเทศแรกในโลก

 

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2000 เนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่ทำให้การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย โดยรัฐสภาเนเธอร์แลนด์โหวตผ่านกฎหมายด้วยคะแนน 3 ต่อ 1 เสียง สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคืออนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงาน หย่าร้างและรับเลี้ยงบุตรได้ กระบวนการทางกฎหมายดังกล่าวได้แก้ไขกฎหมายสมรสที่มีอยู่แล้วเพียงประโยคเดียวเท่านั้นคือ “การแต่งงานสามารถทำได้ระหว่างคนสองคนที่มีเพศแตกต่างกันหรือเพศเดียวกัน”

 

คนกลุ่มเดียวที่คัดค้านในรัฐสภาเนเธอร์แลนด์มาจากพรรคประชาธิปไตยคริสเตียน ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้ร่วมกับรัฐบาลผสม หลังจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กลุ่มคริสตจักรโปรเตสแตนต์ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีอยู่ราว 12% ของประชากรในประเทศทั้งหมดประกาศว่า คริสต์ศาสนิกชนสามารถเลือกได้ว่าจะจัดงานแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันหรือไม่ และแม้ว่ากลุ่มชาวมุสลิม และกลุ่มคริสเตียนหัวอนุรักษนิยมจะยังคงต่อต้านกฎหมายต่อไป แต่กฎหมายสมรสของคู่รักเพศเดียวกันก็ได้รับการยอมรับในสังคมเนเธอร์แลนด์เป็นวงกว้าง

 

สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศล่าสุด

 

ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นมา กฎหมายใหม่ที่รับรองการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่เคยมีการทำประชามติมาก่อนเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2564 ซึ่งคนส่วนใหญ่โหวตสนับสนุน เรื่องนี้เกิดขึ้นได้หลังจากการเคลื่อนไหวต่อสู้มายาวนาน ถึงแม้ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกทำให้การรักเพศเดียวกันไม่มีความผิดทางอาญาตั้งแต่ปี 2485 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในสวิตเซอร์แลนด์ยังคงทำการ "ลงทะเบียนตีตราเกย์" มาอย่างต่อเนื่องและเพิ่งเลิกทำไปเมื่อราวปี 2533

 

นอกจากนี้กลุ่มคู่รักเพศเดียวกันที่เคยจดทะเบียนคู่ชีวิตมาก่อน สามารถยื่นเปลี่ยนแปลงจากสถานะคู่ชีวิตให้กลายเป็นสถานะคู่สมรสได้ เนื่องจากสถานะการจดทะเบียนแบบคู่ชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแบบเดียวกับคู่สมรส เช่น สิทธิในเรื่องการขอสัญชาติและสิทธิในการขออุปการะลูกบุญธรรม ซึ่งทั้งสองสิทธินี้จะได้รับการรับรองในสถานะคู่สมรส

 

 

สำหรับประเทศไทย มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต มาตั้งแต่ปี 2556 คนไทยที่มีความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ. นี้แบ่งเป็นสองกลุ่มหลักๆ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เพศหลากหลายได้รับสิทธิที่ควรได้รับ จากเดิมที่ไม่มีอะไรเลย ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเชื่อว่า สิทธิของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับการสมรสของคู่รักต่างเพศ เช่น ไม่มีสิทธิรับสวัสดิการของคู่ชีวิตอีกคนที่รับราชการ สิทธิการขอสัญชาติไทยให้คู่ชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติ เป็นต้น ดังนั้น พ.ร.บ.คู่ชีวิต จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมทั้งหมด เพราะยังไม่เท่าเทียม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ไม่ว่าจะเพศใดก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองมีการขับเคลื่อนและรณรงค์เรื่อง “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่กลุ่ม LGBTQIA+ อย่างต่อเนื่อง ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกนำไปพิจารณาในสภาฯ หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดเป็นการลงมติรับหลักการวาระที่หนึ่งเท่านั้น เส้นทางการพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมยังอีกยาว แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ที่อาจผลักดันให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ลสามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับการสมรสระหว่างชายและหญิง

 

 

 

logoline