Lifestyle

รู้ก่อน "บริจาคอวัยวะ" ทำกุศลครั้งใหญ่ อวัยวะ ใดปลูกถ่ายแก่คนอื่นได้บ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้อควรรู้ก่อน "บริจาคอวัยวะ" ทำกุศลครั้งใหญ่ อวัยวะ ส่วนใดสามารถบริจาคปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยคนอื่นได้ เช็คโรคต้องห้ามบริจาคอวัยวะ

การ "บริจาคอวัยวะ" ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะทุกครั้งที่เราจะได้เห็นข่าวกันอยู่เรื่อย ๆ  ว่ามีคนเสียชีวิตและทำการ "บริจาคอวัยวะ" เพื่อต่อชีวิตและช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่น ๆ  ให้อยู่ต่อไปได้ อย่างไรก็ตามสำหรับการ "บริจาคอวัยวะ" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการให้ตามกระบวนต่าง ๆ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทางกฎหมาย ส่วนใครหลายคนที่กำลังสับสนว่าการ "บริจาคอวัยวะ" และ การบริจาคร่างกาย แตกต่างกันอย่างไร และอวัยวะส่วนไหนบ้างที่สามารถนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่นได้  
 

การ "บริจาคอวัยวะ" คือการมอบอวัยวะ เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่อวัยวะนั้นๆ เสื่อมสภาพ ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น (ยกเว้น ไต 1 ข้าง, ตับ, ไขกระดูก เป็นต้น ที่สามารถบริจาคได้ตอนยังมีชีวิตอยู่) หลังผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะไปให้ผู้ป่วยที่ได้รับบริจาค แพทย์จะตกแต่งร่างกายของผู้บริจาคให้เรียบร้อย แล้วมอบให้ญาติไปประกอบพิธีทางศาสนา รับแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจากทั่วประเทศ โดยติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย, เหล่ากาชาดจังหวัดทุกแห่ง, โรงพยาบาลประจำจังหวัด

การบริจาคร่างกาย คือการอุทิศรางกายให้นักศึกษาแพทย์ใช้ศึกษา โดยเรียกกันว่าอาจารย์ใหญ่ ผู้บริจาคเสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติ และมีอวัยวะครบหลังจากการเสียชีวิต ต้องแจ้งให้ไปรับร่างภายใน 24 ชั่วโมง หลังการศึกษา 2 ปี ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนั้น ๆ จะประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลให้เอง แสดงความจำนงโดยติดต่อได้ที่คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีเกณฑ์การรับอุทิศร่างกายต่างกัน


เงื่อนไขการ "บริจาคอวัยวะ" ผู้ป่วยสมองตายจะมีเวลาก่อนหัวใจจะหยุดเต้น 72 ชั่วโมง  ทั้งนี้การปลูกถ่ายอวัยวะจะเป็นจะต้องทำแข่งกับเวลา โดยอวัยวะแต่ละอย่างจะมีเวลาขาดที่แตกต่างกัน 

  • หัวใจ มีระยะเวลา  4 ชั่วโมง 
  • ปอด  มีระยะเวลา  8  ชั่วโมง 
  • ตับ   มีระยะเวลา   12 ชั่วโมง
  • ไต    มีระยะเวลา   24 ชั่วโมง 

 

นอกจากนี้ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่สามารถ บริจาคอวัยวะ ได้แก่ ไต 2 ข้าง, ปอด 2 ข้าง, หัวใจ, ตับ, ตับอ่อน นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น, กระจกตา


คุณสมบัติผู้ "บริจาคอวัยวะ" มีรายละเอียด ดังนี้

1. อายุไม่เกิน 65 ปี
2. เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
3. ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
5. อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี
6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
7. ควรแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะให้บุคคลในครอบครัวหรือญาติรับทราบ

 

ขอบคุณข้อมูล:  ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ