รู้จัก "โลน" ต้นตอ อาการคัน ไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเจอใน จุดซ่อนเร้น
รู้จัก "โลน" แมลงคล้าย เหา ต้นตอความคันแบบไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่มักซ่อนตัวในจุดซ่อนเร้น ต้องปฏิบัติอย่างไรให้ห่างไกลจาก ภาวะ ติดเชื้อโลน
อาการคันมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นคันเพราะ แพ้ หรือคันเพราะแมลงกัดต่อย แต่สิ่งที่ค่อนข้างคาดไม่ถึงสำหรับคนที่มีอาการคันคือ สาเหตุมาจาก "โลน" สัตว์ตัวเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายเหา โดยตัว "โลน" (Pediculosis Pubis หรือ Pubic Lice) คือแมลงขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มของปรสิต อาศัยอยู่กับร่างกายมนุษย์ และดำรงชีวิตโดยการดูดเลือดเป็นหลัก พบได้มากที่สุดบริเวณจุดซ่อนเร้น หรือ อวัยวะเพศ แต่ก็อาจพบที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน อีกทั้งยัง "โลน" สามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีกิจกรรมทางเพศทุกชนิด
ข้อมูลพบว่า "โลน" ส่วนใหญ่ที่พบในร่างกายมนุษย์มี 3 ระยะ คือ
- ไข่ (Nit) มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่อาจเห็นได้ด้วยการใช้แว่นขยาย ไข่ของโลนมีสีขาว หรือสีเหลือง และมักจะเกาะอยู่ตามเส้นขน ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 6-10 วัน ก่อนจะออกมาเป็นตัวอ่อน
- ตัวอ่อน (Nymph) หลังจากไข่ฟักตัวแล้ว ตัวอ่อนของโลนจะอาศัยอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศ และอาศัยเลือดของมนุษย์เป็นอาหาร ลักษณะของตัวอ่อนจะคล้ายกับตัวโตเต็มไว แต่มีขนาดเล็กกว่า และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าจะโตเต็มไว
- ตัวเต็มวัย (Adult) ลักษณะเด่นคือ มีสีน้ำตาลอ่อน หรือมีสีเทาอ่อน ๆ มีหกขา โดยขาหน้า 2 ขาจะใหญ่และมีลักษณะคล้ายก้ามปู ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ หากตัวโลนร่วงจากร่างกายมนุษย์ก็จะตายเองภายใน 1-2 วัน
ลักษณะอาการเบื้องต้นหากมี "โลน" อยู่ในร่างกาย
โดยทั่วไปจะแสดงอาการหลังจาก ติดโลน ประมาณ 1 สัปดาห์เป็นต้นไป โดยบางคนอาจจะไม่มีอาการใดๆ หรือคิดว่าอาการคันเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เกิดจากโลน เช่น ผื่นคัน
อาการที่พบมาก คือ อาการคันอย่างรุนแรงบริเวณอวัยวะเพศ เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อการกัดของตัว "โลน" แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ แต่อย่างใด
อาการ ติดเชื้อโลน
- มีอาการคันมากในบริเวณอวัยวะเพศ
- สังเกตเห็นแมลงตัวเล็กมากๆ ตามขนที่อวัยวะเพศ มีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีเทาขาว และมีลักษณะคล้ายปูตัวเล็กๆ หากมีสีเข้มขึ้นเมื่อไหร่ แสดงว่าโลนตัวนั้นได้กินเลือดเข้าไปแล้ว
- ไข่ตัวโลนจะเกาะอยู่ด้านล่างโคนขนที่อวัยวะเพศ มีขนาดเล็กมาก และยากที่จะมองเห็น โดยจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีสีเหลือง สีขาว หรือสีม่วง อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนหลายๆ ใบ
- จุดสีเข้มหรือสีฟ้าบนผิวหนังเป็นรอยจากการกัดของโลน
- รู้สึกเป็นไข้ อ่อนแรง หรือหงุดหงิดกระสับกระส่าย
วิธีป้องกัน "โลน" ไม่ใช่อาการป่วยที่รุนแรง สามารถทำได้ง่าย ๆ
- หลีกเลี่ยงการมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ที่ติดโลน เนื่องจากการมีกิจกรรมทางเพศร่วมกันในระหว่างที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดโลน จะทำให้เกิดแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงจนกว่าจะรักษาโลนให้หายดีก่อน
- หลีกเลี่ยงการใช้ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรืออุปกรณ์เครื่องนอนกับผู้ป่วย แม้ว่ามีโอกาสน้อยในการติดโลนผ่านเสื้อผ้า แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะโลนสามารถอาศัยอยู่ในเนื้อผ้าได้ในระยะสั้น ๆ หากใช้สิ่งของดังกล่าวต่อกันก็อาจทำให้ตัวโลนแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้
- อาบน้ำให้สะอาด ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโลน
- หลีกเลี่ยงการลองชุดในห้างสรรพสินค้า ในการซื้อเสื้อผ้า ควรหลีกเลี่ยงการลองเสื้อผ้าจะดีที่สุด โดยเฉพาะชุดว่ายน้ำ หากต้องลองควรสวมใส่ชุดชั้นในขณะลองเพื่อป้องกันการติดโลน หรือเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย
สำหรับวิธีการรักษา "โลน" สามารถรักษาได้ง่าย ๆ โดยปกติแล้วสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล คลินิก หรือซื้อยาจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยไม่ต้องมีสั่งใบสั่งยาจากแพทย์ ตัวยาพื้นฐานที่ใช้รักษาโลนนั้น จะมาในรูปแบบยาทา หรือแชมพู และจะต้องใช้ตามคำแนะนำ
อย่างเคร่งครัด หากมีอาการที่รุนแรงขึ้น สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อรับยาที่แรงขึ้นในการรักษาโลนแบบอื่นๆ เช่น หากมีโลนที่ขนคิ้ว หรือขนตา คุณจำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษจากแพทย์เท่านั้น และยิ่งหากคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาใด ๆ
อย่างไรก็ตามการ กำจัด "โลน" สามารถทำได้ โดยการใช้ ยาที่ฆ่าตัวโลนโดยตรง การรักษาเสริมอื่นๆ เช่น การอาบน้ำร้อน หรือโกนขนทิ้งไม่สามารถกำจัดต้นตอของสาเหตุไปได้ นอกจากนี้ยาบรรเทาอาการคันทั่วไปสามารถช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ แต่ไม่สามารถรักษาโลนให้หายขาด
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w