Lifestyle

รู้จัก "ไซบูทรามีน" สารใน ยาลดความอ้วน ภัยร้าย จากการ ลดน้ำหนัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก "ไซบูทรามีน" Sibutramine สารใน ยาลดความอ้วน คืออะไร ลดน้ำหนัก หรือ เพิ่มอัตราการเสียชีวิต ทำไมถึงเป็น สารต้องห้าม

จากกรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อตำรวจ บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีอาญากับบริษัทแห่งหนึ่ง และบุคคลอื่น ๆ ซึ่งใช้ข้อความอันเป็นเท็จ อ้างว่า ลงทุน 6,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ได้เงิน 15 ล้านบาท รวมถึงระบุด้วยว่า บริษัทดังกล่าว เคยถูกตำรวจ บก.ปคบ.จับกุมคดีขายยาลดความอ้วน ที่ใส่สารต้องห้าม คือ ไซบูทรามีน ซึ่งจัดเป็นยาอันตรายที่มีผลข้างเคียงรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปรู้จักสาร "ไซบูทรามีน" อันตรายแค่ไหน ทำไมถึงจัดเป็นภัยร้ายจากการ ลดน้ำหนัก
 

"ไซบูทรามีน" (Sibutramine) มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ลดการทำลายสารสื่อประสาทอย่าง ซิโรโทนิน, นอร์อีพิเนฟริน และโดปามีน ทำให้สารเหล่านี้ทำงานนานขึ้น จึงส่งผลทำให้มีความรู้สึกไม่หิว หรืออิ่มเร็วขึ้น ใช้เป็นยาที่ใช้รักษาโรคอ้วน หรือโรคอื่นที่มีสาเหตุมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลข้างเคียงรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก เพิ่มเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น 

 

 

อันตรายของไซบูทรามีน

 

ไซบูทรามีนจะเข้าไปยับยั้งการหลั่งของสารเคมีภายในร่างกาย ส่งผลให้ไม่อยากอาหาร และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว เวียนหัว ปากแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ อยากอาหาร เวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ไซบูทรามีนเท่านั้น

ยาลดความอ้วน

ทั้งนี้ การใช้ไซบูทรามีนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หากมีโรคประจำตัว และกำลังใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะโรคและยาต่อไปนี้

 

  • โรคหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคตับ
  • โรคต้อหิน
  • โรคไต
  • ภาวะซึมเศร้า
  • โรคลมชัก
  • ภาวะเลือดไหลผิดปกติ
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี
  • ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • โรคไทรอยด์
  • ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงหรือชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ยารักษาไมเกรน ยาเสพติด และยากระตุ้นความอยากอาหาร
  • หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานี้เช่นกัน

 

 

นอกจากนี้ ยาชนิดนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่น เช่น โรคคลั่งผอม (Anorexia) ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคจิต ภาวะอารมณ์ดีกว่าปกติ (Mania) ภาวะซึมเศร้า และเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น หากพบสัญญาณใดสัญญาณหนึ่งในข้างต้น หรืออาการอื่นหลังจากใช้อาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ลดความอ้วน

 

ไซบูทรามีนเป็นยาที่มีฤทธิ์รุนแรง ปัจจุบันยานี้เป็นยาผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายในประเทศไทย แต่มักมีการลักลอบนำไปผสมในอาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนัก หรือยาลดความอ้วน แล้วนำไปโฆษณาจนเกินความเป็นจริง จึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้น หากใครกำลังใช้อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ช่วยลดน้ำหนัก ควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ และเรียนรู้ถึงวิธีสังเกตอาการที่เกิดจากฤทธิ์ยาชนิดนี้ไว้ เพื่อความปลอดภัย

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ กำหนดให้ไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท - 2 ล้านบาท ผู้ใดขาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท - 2 ล้านบาท ผู้ใดครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท - 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

 

 

 

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote 

https://www.komchadluek.net/entertainment/524524

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ