นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือโครงการห้องเรียนอาชีพ ระหว่างสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีผู้บริหาร คณะครู เครือข่ายสถานประกอบการ ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากงานการแถลงข่าวและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการห้องเรียนอาชีพระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นประธานนั้น ในครั้งนี้ จะเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือสถานศึกษา
โครงการห้องเรียนอาชีพในพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 6 โรงเรียน ประกอบด้วย 1. โรงเรียนราชมุนีรังสฤษฎ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ร่วมกับ วิทยาลัยอาชีพสุไหง-โกลก 2. โรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี 3. โรงเรียนเบตง “วีระราษฎร์ประสาน”อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ร่วมกับ วิทยาลัยอาชีพเบตง 4. โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนคกาญจนาภิเษกเชียงราย และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย 5. โรงเรียนแม่จันวิทยาคม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ร่วมกับ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกเชียงราย และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย
6. โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด โดยสถานศึกษาอาชีวศึกษาจะร่วมจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ 9 สาขา ได้แก่ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การบัญชี คหกรรม การโรงแรม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างก่อสร้าง พืชศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร และช่างเชื่อมโลหะ มีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 310 คน เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาด้านอาชีวศึกษาตามความถนัดและความสนใจแก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเป็นทางเลือกสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความประสงค์จะเรียนควบคู่หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่และความสนใจของนักเรียน โดยเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานศึกษาอาชีวศึกษา และหน่วยงานเอกชน รวมทั้งเครือข่ายรัฐในการร่วมกันในด้านการจัดการเรียนการสอน การฝึกประสบการณ์ และพัฒนากำลังคนให้มีความรู้พื้นฐาน รวมถึงทักษะด้านอาชีพ พร้อมคุณภาพและคุณธรรม ควบคู่ไปด้วย
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวทิ้งท้ายว่า ความมุ่งหวังของการจัดการศึกษาห้องเรียนอาชีพ คือ การให้ผู้สำเร็จการศึกษาห้องเรียนอาชีพ มีทักษะอาชีพเด่น เป็นคนดี มีงานทำ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป