
วันเข้าพรรษา 2568 หยุดไหม? เปิดประวัติความเป็นมาของวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา 2568 หยุดไหม? เปิดประวัติความเป็นมาของวันเข้าพรรษา พร้อมกิจกรรมอันเป็นกุศล ที่ศาสนิกชนพึงกระทำ
วันเข้าพรรษา 2568
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง โดยในปี 2568 นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 โดยเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกว่า "จำพรรษา"
วันเข้าพรรษา 2568 หยุดไหม?
- วันเข้าพรรษา 2568 ตรงกับวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2568 วันเข้าพรรษา (หยุดเฉพาะราชการ) (ธนาคาร และเอกชน ไม่หยุด)
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
- เป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้อยู่ประจำที่เพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม ศึกษาพระธรรมวินัย และเตรียมการสั่งสอนธรรมะแก่ประชาชน
- เป็นการหลีกเลี่ยงการเดินทางจาริกในช่วงฤดูฝน ซึ่งอาจไปเหยียบย่ำพืชผลของชาวบ้านที่กำลังปลูก หรือทำอันตรายแก่สัตว์เล็กสัตว์น้อย
- เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ได้อยู่ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งกันและกัน
- เป็นโอกาสอันดีที่จะได้บำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน ฟังพระธรรมเทศนา
- เป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย และส่งเสริมให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
- หลายคนถือโอกาสในวันเข้าพรรษาในการตั้งใจลด ละ เลิกสิ่งไม่ดีต่างๆ เช่น งดเหล้า อดบุหรี่ เป็นต้น
ประวัติความเป็นมาของวันเข้าพรรษา
การเข้าพรรษานั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือนในฤดูฝน เนื่องจากในช่วงต้นพุทธกาลนั้น พระสงฆ์ยังคงจาริกไปในสถานที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน ทำให้เหยียบย่ำข้าวกล้าและสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ชาวบ้านเพาะปลูกและอาศัยอยู่ สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านติเตียน พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือน
วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางศาสนาพุทธที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน
วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์
ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องการเข้าพรรษาไว้ แต่การเข้าพรรษานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกปฏิบัติกันมาโดยปกติเนื่องด้วยพุทธจริยาวัตรในอันที่จะไม่ออกไปจาริกตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะการคมนาคมมีความลำบาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ในช่วงต้นพุทธกาลมีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นพระอริยะบุคคล จึงทราบดีว่าสิ่งใดที่พระสงฆ์ควรหรือไม่ควรกระทำ
ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น และด้วยพระพุทธจริยาที่พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยล่วงหน้า ทำให้พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษาไว้ด้วย จึงเกิดเหตุการณ์กลุ่มภิกษุจาริกไปในที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เป็นเวลา 3 เดือนดังกล่าว
พุทธศาสนิกชนพึงกระทำ
- ทำบุญตักบาตร : ใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้ง ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
- ถวายเทียนพรรษาและหลอดไฟ : เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้เป็นแสงสว่างในการศึกษาพระธรรมวินัยตลอด 3 เดือน
- ถวายผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) : เป็นผ้าที่พระสงฆ์ใช้สำหรับผลัดเปลี่ยนอาบน้ำในช่วงฤดูฝน
- ฟังพระธรรมเทศนา : เข้าวัดฟังพระสงฆ์แสดงธรรม เพื่อเรียนรู้หลักธรรมคำสอน
- รักษาศีล เจริญภาวนา : ตั้งใจรักษาศีล 5 หรือศีล 8 และปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจ
- เวียนเทียน : ในบางวัดอาจมีการจัดพิธีเวียนเทียนในช่วงเย็นของวันเข้าพรรษา