ไลฟ์สไตล์

'กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง' คืออะไร  เป็นแล้วมีอาการอย่างไรบ้าง

'กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง' คืออะไร เป็นแล้วมีอาการอย่างไรบ้าง

24 เม.ย. 2566

เรามารู้จักกันดีกว่าว่า กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง คืออะไร เกิดจากอะไร อาการ และวิธีรักษา มีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ

เคยไหม ทั้งๆ ที่เรานอนเต็มอิ่ม แต่ชอบโดนคนอื่นทักบ่อยๆ ว่า ทำไมหน้าตาง่วงนอน ทั้งๆ ที่อารมณ์ดี แต่มีคนมาถามว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมดูไม่สดใส ตาปรือ ทั้งที่พยายามลืมตาเต็มที่ แต่ตาก็ไม่ได้ดูโตขึ้น ชั้นตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน ถ่ายรูปออกมาแล้วไม่มั่นใจ นั่นคืออาการของกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงค่ะ เรามารู้จักกันดีกว่าว่า กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง คืออะไร เกิดจากอะไร อาการ และวิธีรักษา มีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยค่ะ

 

กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง คืออะไร

 

กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง หรือ Ptosis เป็นภาวะเปลือกตาตกหรือหนังตาตกหย่อนลงมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อยกเปลือกตาทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ลืมตาได้น้อย ลักษณะเปลือกตาบนจึงคลุมปิดตาดำมากเกินกว่าปกติ นอกจากจะมีผลด้านความสวยงามแล้ว ในบางรายหากเปลือกตาตกลงมากจนบังรูม่านตา จะมีผลต่อการมองเห็น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก และยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในปัจจุบัน ยุคดิจิทัล คนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง ดวงตาอ่อนล้าได้ง่าย หากใครที่มีภาวะกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง จะยกหนังตาไม่ค่อยขึ้น ทำให้มีลักษณะตาปรือ ดูคล้ายคนที่ง่วงนอนตลอดเวลา

 

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดจากอะไร

สาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

 

1. กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงตั้งแต่กำเนิด

เป็นภาวะที่เกิดจากกล้ามเนื้อตาไม่พัฒนา หรือเกิดจากภาวะที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม หรือมีความผิดปกติของเส้นประสาทสมอง ทำให้เด็กมีภาวะหนังตาตกปิดตาดำมากกว่าปกติ ตาดูปรือ ลืมตาไม่ค่อยขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอาการจะเป็นมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากดวงตาปรือมาตั้งแต่เด็กทำให้มีปัญหาทางสายตาร่วมด้วย ถ้าไม่รักษา การมองเห็นจะไม่ชัด เกิดภาวะตาขี้เกียจได้ (Lazy eye) ทำให้เกิดตาเหล่ตาเข (Amblyopia) การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดสามารถทำได้แต่ยากกว่าภาวะอื่นๆ

 

2. ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดขึ้นภายหลัง

  • ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผิวหนังตาและกล้ามเนื้อตามีความหย่อนคล้อยที่เป็นไปตามวัย ทำให้โครงสร้างผิวเปลือกตาเกิดความหย่อนคล้อย กล้ามเนื้อเปลือกตาเสียความยืดหยุ่น ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง จนทำให้หนังตาตกทับตาดำมากกว่าปกติและส่งผลต่อปัญหาการมองเห็น
  • ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน หรือคนที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน โดยไม่ได้มีการพักสายตา จะทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงได้
  • การผ่าตัดตาสองชั้นที่ผิดพลาด  การผ่าตัดทำตาสองชั้นด้วยวิธีผูกปมไหมไม่ละลายไว้ใต้ผิวตา หากไม่ได้ศัลยกรรมโดยแพทย์ที่มีความชำนาญและเฉพาะทาง อาจทำให้ปมไหมขวางการทำงานของกล้ามเนื้อตา ทำให้ดูตาปรือ รู้สึกระคายเคืองตาและยังเสี่ยงปมไหมหลุดออกจนทำให้ตาสองชั้นเหลือเพียงข้างเดียว ส่งผลให้ชั้นตาไม่เท่ากัน
  • ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากโรค MG หรือ Myasthenia Gravis การหลั่งสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ อาการที่พบบ่อยคือ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อยกเปลือกตา ทำให้เกิดภาวะหนังตาตก ลืมตาลำบาก กลอกตาผิดปกติ มองเห็นภาพซ้อน โฟกัสภาพไม่ได้
  • ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้โครงกระดูกบริเวณใบหน้าผิดไปจากเดิม ส่งผลให้เกิดอาการหนังตาตก ลืมตาลำบาก กลอกตาผิดปกติ จนเกิดโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

 

อาการเป็นอย่างไร

 

โดยปกติดวงตาของคนเรานั้นจะต้องมองเห็นลูกตาดำประมาณ 80~90% วิธีการสังเกตง่าย ๆ ว่ากล้ามเนื้อตาเราอ่อนแรงหรือไม่ พิจารณาได้จากพฤติกรรมเหล่านี้ คือ

  • ลืมตาได้ไม่เต็มที่ ถ้าเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงข้างเดียวเป็นผลทำให้เปลือกตาข้างนั้นลงมาปิดที่ขอบบนของตาดำมากกว่าอีกข้าง ชั้นตาจะไม่เท่ากัน
  • หนังตาตก ทับดวงตาจนบดบังการมองเห็น
  • ขยี้ตาบ่อย ทำให้กล้ามเนื้อตายืดออก ชั้นตาอาจกลายเป็นสามชั้นหรือเปลือกตามีลักษณะรอยพับ ทำให้ดูตาปรือ
  • ปัญหาเลิกหน้าผาก เป็นการยกคิ้วช่วยให้เปลือกตาไม่ลงมาบังการมองเห็น
  • เบ้าตาลึกกว่าปกติ เกิดจากไขมันใต้เปลือกตาหายไปจากตำแหน่งที่ลึก ทำให้ตาดูโหล ดูโทรม มองแล้วดูมีอายุ 

 

ถ้าหากมีพฤติกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แปลว่าเข้าข่ายกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรงแล้วค่ะ ควรทำการรักษาโดยการผ่าตัดปรับกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง หรือยังไม่แน่ใจว่ามีอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงหรือไม่ ควรมาพบและปรึกษาศัลยแพทย์โดยตรง

 

ข้อเสียของภาวะกล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง

 

  • หากมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงร่วมกับมีเบ้าตาลึกด้วย จะทำให้ดวงตาปรือมากจนสังเกตได้ ทำให้เห็นลักษณะดวงตาเป็นร่องลึกเหนือชั้นตา ทำให้ตาตก ส่งผลให้ใบหน้าดูโทรม อิดโรย ทำให้ดูแก่ก่อนวัย หากได้ทำการรักษา จะช่วยให้บริเวณเบ้าตาลึกตื้นขึ้น ผิวเปลือกตาดูเต็ม ตาไม่ลึก ไม่ปรือ ทำให้ดวงตาดูสดใส อ่อนเยาว์อีกครั้ง
  • เกิดอุปสรรคในการมองเห็น เพราะขอบตาที่อยู่ต่ำกว่าระดับปกติ จะปิดทับตาดำบางส่วน หรือหากขอบตาตกมากจนบังรูม่านตา จะทำให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นลดลง การมองเห็นแคบขึ้น ทำให้ต้องพยายามเบิ่งตาเวลามอง จนทำให้ติดเลิกคิ้ว ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต รวมถึงเรื่องบุคลิกภาพ ความสวยงาม และสุขภาพดวงตาในระยะยาวอีกด้วย
  • มีริ้วรอยบริเวณหน้าผากมากขึ้น เพราะคนที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาจติดการเลิกคิ้ว จากการพยายามเบิ่งตาเพื่อการมองเห็นให้ดีขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อหน้าผากต้องเคลื่อนไหวมาก จะทำให้เกิดริ้วรอยเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้หน้ามีริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร

 

\'กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง\' คืออะไร  เป็นแล้วมีอาการอย่างไรบ้าง

 

วิธีการรักษาและแก้ไข กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

 

1. การปรับกล้ามเนื้อตา แบ่งได้เป็น 2 วิธี ได้แก่

 

\'กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง\' คืออะไร  เป็นแล้วมีอาการอย่างไรบ้าง

 

วิธีที่ 1 คือ การปรับกล้ามเนื้อตาแบบไม่กรีด การปรับกล้ามเนื้อตาแบบไม่กรีดนั้น เหมาะสำหรับเคสที่มีตา 2 ชั้นอยู่แล้ว และไม่ต้องการชั้นตาที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพียงแค่ต้องการปรับให้ตาดูสดใส

วิธีการรักษาและแก้ไข : ซึ่งเราจะใช้วิธีการมัดเพื่อกระชับกล้ามเนื้อตาที่อ่อนแรง วิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ทำให้เกิดรอยแผล เพราะเป็นการเย็บด้านในเปลือกตา

 

\'กล้ามเนื้อหนังตาอ่อนแรง\' คืออะไร  เป็นแล้วมีอาการอย่างไรบ้าง

 

วิธีที่ 2 การปรับกล้ามเนื้อตาแบบกรีด การปรับกล้ามเนื้อตาแบบกรีดนั้น เหมาะสำหรับเคสที่ไม่มีตา 2 ชั้น หรือ ต้องการปรับเปลี่ยนตา 2 ชั้นเดิม ให้หนา หรือ บางกว่าก่อน

วิธีการรักษาและแก้ไข : ซึ่งการกรีดเหมาะกับคนไข้ที่มีผิวเปลือกตาที่หนา และมีระยะห่างบริเวณตากับคิ้วพอสมควร

 

2. การผ่าตัดแบบกรีดบริเวณใต้ท้องคิ้ว

• เป็นการผ่าตัดที่เหมาะสำหรับ คนที่มีตา 2 ชั้นอยู่แล้ว คนที่หนังตาบนหย่อนคล้อยลงมามาก เช่น ผู้สูงอายุ

วิธีการผ่าตัดรักษา คือ กรีดบริเวณใต้ท้องคิ้ว เพื่อดึงบริเวณที่เนื้อที่ย้อยขึ้น จำกัดผิวหนังและไขมันที่ย้อยออก และเย็บกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ไว้บริเวณท้องคิ้ว เทคนิคนี้โอกาสบวมช้ำน้อยมาก และเข้าที่ไวกว่า ซึ่งวิธีการแก้ไขแบบนี้มีข้อเสียคือ ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของแพทย์เป็นอย่างสูง เพราะอาจส่งผลเสียกับคนไข้ได้ เช่น ยกหางตาไม่เท่ากัน และอาจจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้

 

3. การผ่าตัดยกกระชับหน้าผาก เอนโดไทน์

• เป็นการผ่าตัดที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการทำยกกระชับไปพร้อม กับการทำให้ตาดูสดใสขึ้น

วิธีการรักษาและแก้ไข : การผ่าตัดยกกระชับหน้าผาก เอนโดไทน์ คือ การผ่าตัดแบบสอดกล้อง โดยแพทย์จะกรีด รอยเล็กๆ บริเวณไรผม 3-5 รอย และใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า เอนโดไทน์ เป็นตัวเกี่ยวและยึดผิวหนัง ทำให้หน้าผากดูยกกระชับ ลดริ้วรอย และเพิ่มความกว้างบริเวณเปลือกตา เนื่องจากตาที่ย้อยลงมา ถูกดึงขึ้น ทำให้เห็นชั้นตาที่ชัดเจนมากขึ้น

 

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจากเพจ srsurgeryreview และ Dr.Ahn Tae Joo