Lifestyle

ผู้เชี่ยวชาญ แนะวิธีรับมือ ปัญหาผิว สำหรับ อากาศแห้ง และเย็น ช่วง ฤดูหนาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงาม แนะวิธีรับมือกับปัญหาผิว ที่มาพร้อมกับอากาศแห้งและเย็น ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง

เมื่อเข้าสู่ช่วง ฤดูหนาว หลายๆ คนคงเตรียมตัวออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อตามหา และสัมผัสกับความหนาวเย็นตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ แต่ทราบหรือไม่ว่าอากาศที่เย็นตัวลงมาพร้อมกับระดับความชื้นในอากาศที่ต่ำ หรือเรียกกันว่า “อากาศแห้ง” รวมถึงรังสียูวีในแสงแดด ทำให้ ผิว ต้องเผชิญกับปัญหาผิวต่างๆ มากมาย อาทิ ผิวหมองคล้ำไม่สดใส แห้งกร้าน ลอกเป็นขุย ฯลฯ ‘ธัญ’ (THANN) จึงร่วมกับ แพทย์หญิงกนกวรรณ เศรษฐพงศ์วนิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงาม แนะวิธี “รับมือกับปัญหาผิวที่มาพร้อมกับอากาศแห้งและเย็นในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู”

 

แพทย์หญิงกนกวรรณ เศรษฐพงศ์วนิช

 

แพทย์หญิงกนกวรรณ แนะนำว่า สภาพอากาศโดยทั่วไปในช่วง ฤดูหนาว นอกจากจะทำให้เรารู้สึกเย็นสบายแล้ว ยังส่งผลให้ ผิว ของเราเกิดความแห้งกร้าน แสบ คัน และลอก เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศลดลง ทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ปกติร่างกายของคนเราจะมีการคายความชุ่มชื้นเพื่อหล่อเลี้ยงผิวหนังอยู่ตลอดเวลา แต่จะเกิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความชื้นในอากาศ และสภาพผิวของแต่ละบุคคล หากผิวมีโครงสร้างผิวสมบูรณ์แข็งแรง จะเกิดน้อยกว่า ผิวก็จะดูเรียบเนียน เต่งตึง มีสุขภาพดี โดยเราสามารถเพิ่มระดับความชุ่มชื้นและป้องกันการสูญเสียน้ำของผิวได้ด้วยการเลือกใช้ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่มีส่วนผสมของ มอยส์เจอไรเซอร์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

 

ผู้เชี่ยวชาญ แนะวิธีรับมือ ปัญหาผิว สำหรับ อากาศแห้ง และเย็น ช่วง ฤดูหนาว

 

• ชนิดปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน ทำหน้าที่เหมือนฟิล์มเคลือบผิวหนัง ป้องกันไม่ให้ความชื้นที่ผิวหนังระเหยไป มีประสิทธิภาพในการรักษาความชื้นที่ผิวหนังได้ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อโดนน้ำก็จะละลายหรือหลุดออกง่าย ต้องทาซ้ำอยู่บ่อยๆ จนอาจทำให้รู้สึกเหนอะหนะและสร้างความรำคาญได้ ตัวอย่างเช่น ปิโตรเลียมเจลลี, น้ำมันแร่, พาราฟิน เป็นต้น

• ชนิดเคลือบผิวหนัง ลักษณะใกล้เคียงกับชนิดปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน แต่ต่างกันที่สามารถซึมลงสู่ชั้นผิวหนังได้ ทำหน้าที่ควบคุมระดับความชื้นของ ผิว ให้กลับมาสู่สภาวะปกติ โดยจะเติมร่องผิวชั้นนอกช่วยให้ผิวเรียบเนียนนุ่มตัวอย่างเช่น น้ำมันรำข้าว, โกโก้บัตเตอร์, เซราไมด์ เป็นต้น

• ชนิดดูดซับน้ำจากอากาศ ทำหน้าที่เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังชั้นนอกด้วยการดักจับน้ำหรือความชื้นในอากาศหรือดึงน้ำจากผิวชั้นใน โดยมักจะใช้ร่วมกับส่วนผสมอื่น เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการกักเก็บความชุ่มชื้น ตัวอย่าง เช่น สารสกัดจากพืชทะเลทราย, ว่านหางจระเข้ เป็นต้น

การเลือกใช้ มอยส์เจอไรเซอร์ ที่เหมาะสมกับ ผิว แต่ละประเภทจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ผิวมีสุขภาพดี แนะนำให้เลือก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่ปราศจากน้ำหอม สารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง และไม่ก่อให้เกิดสิว

 

ผู้เชี่ยวชาญ แนะวิธีรับมือ ปัญหาผิว สำหรับ อากาศแห้ง และเย็น ช่วง ฤดูหนาว

 

สำหรับเคล็ดลับในการดูแลผิวหน้าที่อยากแนะนำเพิ่มเติม คือ

• ล้างหน้าด้วยน้ำที่อุณหภูมิปกติ เพราะน้ำที่อุณหภูมิสูงเกินไปจะทำให้ผิวแห้งและลอกมากยิ่งขึ้น

• ทาครีมบำรุงผิวหลังอาบน้ำภายใน 3-5 นาที ขณะที่ผิวยังหมาด เพื่อช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น

• ฟื้นบำรุงผิวหน้าให้กระจ่างใสด้วยการมาส์กหน้าประเภทบำรุง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

• อย่าลืมครีมกันเเดดเป็นประจำเพราะช่วง ฤดูหนาว ที่ อากาศแห้ง ผิวจะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายกว่าปกติ หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการดูแลจะนำไปสู่ปัญหาริ้วรอย และความหมองคล้ำ

• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อทำให้ผิวไม่แห้ง ดูเต่งตึง และอิ่มน้ำ

• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมและฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอได้ดี

 

ผู้เชี่ยวชาญ แนะวิธีรับมือ ปัญหาผิว สำหรับ อากาศแห้ง และเย็น ช่วง ฤดูหนาว

 

สำหรับคนที่มีแผนจะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ เพื่อไปสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น ควรระวังเรื่องการเกิดภาวะอุณหภูมิของร่างกายต่ำ เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซึมและอาจหมดสติได้ในบางราย นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความผิดปกติของผิวหนังบางส่วน เนื่องจากการหดตัวของหลอดเลือด หรือภาวะเนื้อเยื่อแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งจากสภาพอากาศหนาวเย็นมากๆ มักพบบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ปลายจมูก ติ่งหู โดยผิวหนังบริเวณนั้นจะเกิดอาการซีด ชา บวมแดง ปวดแสบปวดร้อน เกิดตุ่มพอง หรือเกิดอาการผิวหนังตายได้

วิธีการป้องกัน คือ การสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม โดยตรวจสอบสภาพอากาศและอุณหภูมิก่อนการเดินทาง และพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นจัดจนเกินไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ