เคล็ด(ไม่)ลับ ง่าย ๆ ป้องกันเล็บพัง จากการทำ "เล็บปลอม"
เคล็ด (ไม่) ลับ กับวิธีง่าย ๆ ไม่กี่ข้อ สำหรับสาว ๆ ที่ชอบทำเล็บ ไม่ว่าจะทาสีเล็บ ต่อ "เล็บปลอม" รู้ก่อนทำ ป้องกันเล็บพัง
ต้องยอมรับว่าสมัยนี้ การทำเล็บ ต่อเล็บปลอม เป็นสิ่งที่สาว ๆ นิยมทำกัน บางคนชอบการทาสี ตกแต่งบนเล็บให้สวยงาม บางคนต่อเล็บยาวเพื่อทำให้นิ้วดูยาวเรียว แต่รู้บ้างมั้ยว่าการได้รับสารเคมีจากการทำเล็บบ่อยๆ อาจทำให้เล็บของเราเปราะบาง หรือบางรายที่รุนแรง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
สำหรับเล็บปลอมที่นิยมทำกัน ปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด โดยชนิดแรกทำจากสารเคมี ได้แก่ เล็บอะคริลิก และ เล็บเจล อีกชนิด เป็นเล็บปลอมที่ ทำจากพลาสติก ที่นี่เรามาดูกันว่าเล็บปลอมแต่ละชนิด เป็นอย่างไรบ้าง
เล็บอะคริลิก เป็นเล็บปลอม ทำจากผงอะคริลิกโพลิเมอร์ ผสมกับน้ำยาโมโนเมอร์ มีลักษณะเป็นเจล ช่างทำเล็บจะตะไบหน้าเล็บให้ขรุขระเล็กน้อยเพื่อให้เล็บที่ต่อยึดเกาะเล็บจริงได้ดีขึ้น ทาน้ำยาเชื่อมเล็บ จากนั้นจะนำเจลอะคริลิกที่ผสมมาทาที่บริเวณเล็บ และจัดแต่งรูปทรงตามต้องการ ทิ้งไว้สักครู่อะคริลิกจะแห้งและยึดเกาะกับเล็บจริง
เล็บอะคริลิก ปกติจะอยู่ได้นานประมาณ 2–3 สัปดาห์ การถอดเล็บอะคริลิกออก ต้องแช่เล็บในน้ำยาอ เพื่อให้ถอดออกได้ง่าย
เล็บเจล คล้ายกับการทาเล็บปกติ แต่น้ำยาทาเล็บที่ใช้จะเป็นชนิดสีเจล ซึ่งต้องอบสีเจลให้แห้งสนิทและคงรูปด้วยเครื่องอบรังสียูวี
การทำเล็บเจลจะอยู่ได้นานกว่าการทำเล็บอะคริลิก วิธีการล้างเล็บเจลเหมือนกับการถอดเล็บอะคริลิกคือต้องแช่นิ้วมือในน้ำยาก่อน เพื่อล้างสีเจลออกง่ายขึ้น
และสำหรับ เล็บปลอม ที่ทำจากพลาสติก เป็นชุดทำเล็บปลอมสำเร็จรูป ที่ ส่วนใหญ่จะมีลวดลายอยู่แล้วและราคาไม่แพง เป็นที่นิยมของสาว ๆ เนื่องจากสามารถติดได้ด้วยตัวเองโดยใช้กาวที่มาพร้อมกับเล็บปลอมเป็นตัวเชื่อม
เคล็ด (ไม่)ลับ ต่อเล็บปลอมอย่างไรไม่เล็บพัง
- ก่อนอื่นเลยการตัดสินใจในการต่อเล็บปลอม ควรเป็นช่างทำเล็บที่มีความชำนาญ เลือกร้านทำเล็บที่จดทะเบียนถูกต้อง รวมทั้งเลือกช่างทำเล็บที่ผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต
- อุปกรณ์ที่ใช้ทำเล็บ ไม่ว่าจะเป็นที่ตัดเล็บ ตะไบเล็บ ที่แคะเล็บ ควรผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทุกครั้ง หรือบางคนอาจมีอุปกรณ์ ในการทำเล็บของตัวเอง ก็น่าจะปลอดภัยสำหรับเล็บเรา
- ไม่ควรแกะเล็บเจลและเล็บอะคริลิกด้วยตัวเอง เพราะต้องใช้น้ำยาสำหรับล้างเล็บปลอมโดยเฉพาะ จึงควรให้ช่างที่มีความชำนาญล้างเล็บให้
- ไม่นำเล็บปลอมชนิดพลาสติก ที่หลุดแล้วมาติดซ้ำโดยไม่ทำความสะอาด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ทาครีมหรือโลชั่นบำรุงเล็บและมืออย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังจากล้างเล็บด้วยน้ำยาอะซีโตน
- หลีกเลี่ยงการต่อเล็บปลอมหรือทาสีเล็บบ่อย ๆ และควรพักเล็บ ทุก ๆ 2 เดือน
- เลี่ยงการทำเล็บหากมีการติดเชื้อราที่เล็บ หากมีแผลที่เล็บ หรือมีอาการแพ้สารเคมีที่ใช้ในการทำเล็บ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ติดตามข่าวสาร คมชัดลึก อื่นๆ ได้ที่
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057