
ทุบสะพานเข้าหมู่บ้าน
ชาวชุมชนหมู่บ้าน ส.ภาณุรังษี อ.บางกรวย จ.นนทบุรี กว่า 600 ครัวเรือนรวมทั้งประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรข้ามเขตข้ามอำเภอระหว่างถนนเชื่อมบางกรวย-ไทรน้อย เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทุบสะพานข้ามทางรถไฟบางบำหรุทิ้งเพื่อก่อสร้างเส้นทางระบบรถ
โดยบริษัท ส.ภาณุรังษี เจ้าของหมู่บ้านอนุญาตให้ผู้รับเหมาของการรถไฟทุบกำแพงรั้วหมู่บ้านทำถนน ทุบสะพาน และใช้ที่ดินของบริษัททั้งสองฝั่ง โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนในหมู่บ้าน
ทั้งๆ ที่ลูกบ้านมาซื้อบ้านที่หมู่บ้านนี้ก็เพราะบริษัท ส.ภาณุรังษี ได้สร้างสะพานข้ามทางรถไฟเข้า-ออกหมู่บ้านอย่างสะดวกสบาย ชาวบ้านใช้สัญจรมากว่า 24 ปี แต่มาวันนี้อนุญาตให้การรถไฟมาทุบทิ้ง
สะพานนี้เป็นเส้นทางลัดจาก อ.บางกรวย ผ่านหน้า สน.บางพลัด ไปยัง อ.บางพลัด ออกถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนศิรินธร และสี่แยกบางพลัด ซอย 75 ได้ แต่เมื่อสะพานถูกทุบทิ้งชาวบ้านกว่า 1 แสนคนต่อวันต้องเดินทางสัญจรลำบาก กลับรถไกล ต้องไปเลี้ยวซ้ายออกทางพระราม 7 ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร แล้วข้ามทางรถไฟสายใต้เก่าไปติดไม้กั้นรถไฟ ติดไฟแดงรถทางตรง และเลี้ยวออกบางพลัด ซอย 75 ส่วนขากลับออกจากพลัด ซอย 75 เลี้ยวซ้ายถึงคลองบางกอกน้อยประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วลอดใต้สะพานกลับมาเข้าหมู่บ้านซึ่งมีระยะทางไปกลับประมาณ 8 กิโลเมตร
ความเดือดร้อนของประชาชนชาวหมู่บ้าน ส.ภาณุรังสี ไม่มีใครให้ความใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา ทุกฝ่ายต่างปล่อยให้เป็นเรื่องของเอกชนกับการรถไฟ ประชาชนที่ไม่มีอำนาจใดๆ ต้องก้มหน้ารับกรรมต่อไป
ชาวชุมชน ส.ภาณุรังษี
ตอบ
นายจเร รุ่งฐานีย วิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษและก่อสร้าง ผู้อำนวยการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงว่า สะพาน ส.ภาณุรังษี พาดผ่านที่ดินของการรถไฟ ส่วนที่ดินทางขึ้นลงสะพานเป็นของเอกชน การก่อสร้างโครงการอาจมีผลกระทบกับประชาชนบ้าง เมื่อทุบสะพานแล้วต้องทำเส้นทางทดแทนมารองรับ แต่อาจจะไม่ได้สะดวกสบายเหมือนเดิม
โครงการนี้เป็นโครงการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ตั้งแต่บางซื่อไปถึงตลิ่งชัน ก่อนก่อสร้างโครงการการรถไฟได้ปฏิบัติตามระเบียบและขั้นตอน มีการทำประชาพิจารณ์และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมารับทราบแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีโครงการนี้
ก่อนหน้าที่จะทำโครงการมีการออกแบบทางวิศวกรรมไว้หลายด้าน ตัวทางรถไฟต้องลอดใต้สะพาน แต่ความสูงของสะพานไม่พอ ทำสะพานใหม่ก็ไม่ได้เพราะจะสูงมาก ทางลาดตรงทางขึ้นลงสะพานจะต้องเพิ่มพื้นที่เข้าไปในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่มีพื้นที่เพียงพอ การรถไฟจึงมีความจำเป็นต้องทุบสะพานออกเพื่อก่อสร้างโครงการอันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในระยะยาว
วิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. บอกว่า ทนลำบากหน่อย...โครงการสร้างเสร็จเมื่อไหร่จะมีถนนเลียบทางรถไฟ การเดินทางจะสะดวกสบายมากขึ้น
ลุงแจ่ม