
อีกก้าวพัฒนาระบบ"ตลาดกลาง" นำร่อง"ซื้อขายยางแบบล่วงหน้า"
หลังประสบความสำเร็จในการซื้อขายยางพาราในรูปแบบของตลาดกลาง จนวันนี้สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พัฒนารูปแบบการซื้อขายยางพาราก้าวขึ้นมาอีกขั้น ด้วยการนำระบบการซื้อขายตลาดยางแบบใหม่ โดยใช้วิธี "การซื้อขายยางแบบข้อตกลงโดยมีสัญญาล่วง
นายสุจินต์ แม้นเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนพัฒนาตลาดกลางยางพาราซื้อขายยางแบบข้อตกลงโดยมีสัญญาล่วงหน้า (Physical Forward Contract) พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการซื้อขายยางในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามากขึ้น นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาการซื้อขายยางแบบข้อตกลงเป็นศูนย์กลางของตลาดยางพาราในภูมิภาคอาเซียน อนาคตหากตลาดเกิดความเข้มแข็งคาดว่าจะใช้อ้างอิงเป็นตลาดหลักของโลกได้ด้วย
“ตลาดยางแบบข้อตกลงโดยมีสัญญาล่วงหน้านี้มีข้อกำหนด คือผู้ซื้อกับผู้ขายต้องเซ็นสัญญาล่วงหน้า โดยมีการส่งมอบในระยะไม่เกิน 7 วัน และสัญญาไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตยางพาราได้อีกทางหนึ่ง”
ด้าน นายสุวิทย์ รัตนพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช เผยถึงความคืบหน้าการใช้ระบบตลาดกลางยางพาราโดยวิธีการซื้อขายยางแบบข้อตกลงโดยมีสัญญาล่วงหน้าว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการไปได้ด้วยดี หลังจากที่สถาบันวิจัยยางได้เริ่มนำระบบนี้มาใช้ที่สำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2553 จนถึง ณ วันนี้ได้ซื้อขายกันแล้วมากกว่า 100 ครั้ง มีมูลค่าการซื้อขายรวมมากกว่า 500 ล้านบาท โดยซื้อขายสัปดาห์ละ 2 วัน อังคารและพฤหัสบดี แล้วจะมีการส่งมอบจริงในวันถัดไปหรือไม่เกินวันที่มีการทำสัญญาในสัปดาห์ถัดไป
"ตอนนี้เราเปิดขายเฉพาะยางแผ่นรมควันเท่านั้น ยังไม่เปิดซื้อขายยางแผ่นดิบ เพราะต้องการทำให้ตลาดเข้มแข็งอยู่ตัวก่อนแล้วค่อยขยายเพิ่ม ทุกวันนี้มีการซื้อขายสัปดาห์ละ 2 วัน อังคารและพฤหัสบดี เฉลี่ยประมาณ 100 ตันต่อสัปดาห์ โดยผู้ซื้อผู้ขายก็จะเป็นกลุ่มคนในพื้นที่ ยังไม่ขยายไปยังพื้นที่อื่น ไม่เหมือนกับตลาดกลางซื้อขายจริงวันต่อวันจะมีมาจากหลายจังหวัด"
นายสุวิทย์ยอมรับว่าตลาดซื้อขายยางแบบข้อตกลงโดยมีสัญญาล่วงหน้าจะซื้อขายกันอย่างคึกคักก็ต่อเมื่อราคายางมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคายางลดลง ทำให้ผู้ขายซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราก็จะยิ่งเข้ามาซื้อขายในตลาดกันมากขึ้น หลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายในเรื่องต้นทุนแล้วคุ้มก็จะเทขายทันที แต่หากราคามีความคงที่ไม่ผันผวนมากก็จะหันมาขายในตลาดจริงวันต่อวัน
อย่างไรก็ตามจากนี้ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าจะเข้าสู่ระบบการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้จัดสรรงบจำนวนกว่า 30 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานที่ทำการถาวรและติดตั้งระบบอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการประกวดราคาในเดือนมิถุนายน 2554 จากนั้นจะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างและจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และจะมีพิธีเปิดอาคารสำนักงานที่ทำการถาวร และเริ่มทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการประมาณเดือนกรกฎาคม 2555
ถึงวันนั้นประเทศไทยก็จะมีตลาดกลางยางพาราทั้งสองระบบที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก มีการเปิดซื้อขายกับต่างประเทศ มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้นที่เน้นการซื้อขายล่วงหน้า แต่มีการส่งมอบสินค้าจริงภายใน 15 วัน ไม่ใช่มุ่งซื้อขายเพื่อหวังทำกำไร ซึ่งจะทำให้ตลาดยางพาราไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น
"สุรัตน์ อัตตะ"