
มนต์เสน่ห์เขลางค์นคร
กุบกับ กุบกับ ... เสียงเกือกม้ากระทบพื้นถนน ดังเป็นจังหวะ พาหนะที่ฉันนั่งอยู่ขยับเขยื้อนไปตามท้องถนน ลมเอื่อยๆ พัดผ่านหน้า ในยามที่แสงแดดเริ่มร้อนในยามสาย ใช่แล้ว... ตอนนี้ฉันนั่งอยู่บนรถม้า เหมือนย้อนตัวเองไปสู่อดีตสมัยก่อนเก่า หากแต่จะเรียกว่าอดีตก็ไม่
ลำปาง ... เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่น้อย กว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) ชื่อของ เมืองเขลางค์ อันเป็นเมืองในยุคแรกๆ หรือ เมืองนครลำปาง ล้วนมีที่มา ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป สมันก่อนจังหวัดใกล้เคียงมักจะเรียกชาวลำปางว่า "จาวละกอน" ซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่าละกอนมีชื่อทางภาษาบาลี ว่า "เขลางค์ " หรือตามประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งเมืองระบุไว้ว่า ตั้งชื่อตาม "พรานเขลางค์" ที่เป็นผู้นำทางและมีส่วนร่วมในการสร้างเมือง
ปัจจุบัน การเดินทางไปจังหวัดลำปางค่อนข้างสะดวก นอกจากรถยนต์ส่วนตัวแล้ว ยังมีรถทัวร์หลายบริษัท, รถไฟ และสายการบินให้เลือก ฉันเองเลือกนั่งรถทัวร์ไปถึงลำปางเช้ามืด และนั่งสองแถวไปหาที่พัก ซึ่งสอบถามจากเพื่อนๆ ได้ความว่า มีเกสเฮ้าส์น่ารักๆ ในย่าน "กาดกองต้า" อยู่หลายแห่ง แถมราคาไม่แพง กาดกองต้า แปลง่ายๆ จากภาษาท้องถิ่นล้านนา ก็คือ ตลาดบริเวณตรอกท่าน้ำ หรือที่ชาวบ้านจะเรียกตลาดจีนเพราะเป็นย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ และเป็นถนนเส้นเลียบแม่น้ำวัง ที่กลับมาคึกคักอีกครั้งในยามค่ำวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะเปิดเป็นถนนคนเดิน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2548
ฉันตั้งต้นทำความรู้จักลำปาง ที่ตลาดสดรัษฎา ริมน้ำวัง เชิงสะพานรัษฎาภิเศก ต้นถนนกาดกองต้า ดูเหมือนว่า ตลาดสดจะคึกคักที่สุดในยามเช้าตรู่แบบนี้ ตลาดสดที่นี่ไม่ใหญ่มาก สินค้าที่มาขายก็พื้นๆ เหมือนกับที่อื่น แต่ก็มีผักพื้นบ้าน รวมถึงเห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก ที่ชาวบ้านเก็บมากองขาย และคู่กันที่ฉันเห็น ก็คือการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ที่เดินบิณฑบาตผ่านไปมา
มาลำปางทั้งที ฉันก็ต้องมาเที่ยววัด เพราะจังหวัดนี้ มีวัดเก่าแก่ สวยงามศิลปะล้านนาอยู่หลายแห่ง
วันนี้ ฉันจะไปวัดคู่บ้านคู่เมือง ศิลปะล้านนาชั้นครู และเป็นวัดประจำปีเกิดของคนปีฉลู "วัดพระธาตุลำปางหลวง" อยู่ที่ อ.เกาะคา ห่างจากตัวจังหวัดลำปางราว 15 กม. วัดที่ฉันได้แต่ผ่านเป็นเส้นทางลัดไปเชียงใหม่ได้ราว 13 กม. แต่วันนี้ จะขอขึ้นไปชมใกล้ๆ และอาจจะได้เห็นเงาพระธาตุหัวกลับ ซึ่งสมัยก่อนจะมีแต่ผู้ชายเท่านั้น ที่ได้เห็น เพราะจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปดูเงาได้ที่มณฑปเก่า แต่ผู้หญิงห้ามขึ้น เนื่องจากมีรอยพระพุทธบาทอยู่ด้านล่าง
ปัจจุบัน ผู้หญิงก็สามารถดูเงาพระบรมธาตุได้ ที่วิหารพระพุทธ ที่อยู่ด้านข้างวิหารหลวง(วิหารประธาน) ที่วิหารพระพุทธมีป้ายบอกไว้ว่า อายุไม่น้อยกว่า 700 ปี แต่เดิมเป็นวิหารเปิดโล่ง และมาปิดซ่อมในปี พ.ศ.2345 ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ หน้าตักกว้าง 2 วา 2 ศอก 1 คืบ สูง 2 วา 2 ศอก 1 คืบ
น่าอัศจรรย์จริงๆ ที่ช่องเล็กๆ ใกล้ประตูทางเข้าวิหารพระพุทธ ที่แสงรอดผ่าน ฉันได้เห็นเงาพระธาตุเจดีย์เสมือนตั้งปกติ แทนที่ยอดพระเจดีย์จะไปตามเงา แถมยังเป็นเงาสีทองของพระธาตุเสียอีก แทนที่จะเป็นเงาขาว-ดำ ปกติ
มีมุมหนึ่งของพระธาตุ มีวิหารเก่า "วิหารพระศิลา" เป็นที่ประดิษฐาน พระนาคปรก พระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ ซึ่งพระราชบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้มาประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้เมื่อปี พ.ศ.1215 ปัจจุบันมีทำลูกกรงเหล็กกั้นไว้ ด้านใน
อีกจุดที่น่าสนใจ อยู่ที่วิหาร ที่ประดิษฐาน "พระแก้วดอนเต้า" หรือพระแก้วมรกต ที่สร้างจากเนื้อแก้วแตงโม ศิลปะเชียงแสน อายุ 1,500 ปี ซึ่งตามประวัติบอกว่า สร้างที่วัดพระแก้วดอนเต้า แต่หลังจากมีเรื่องราว พระแก้วดอนเต้าจึงได้ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่นี่
ฉันจบวันแรกที่ลำปางด้วยการเดินตลาดเย็นที่ กาดกองต้า ผู้คนคึกคักจริงๆ ถนนทั้งเส้นมีสินค้า-อาหารพื้นเมืองและเสื้อผ้ามาขาย แต่สินค้าสมัยใหม่ก็มีโอกาสอวดโฉมแข่งด้วยเช่นกัน แล้วแต่ใครจะสนใจสิ่งไหน ฉันเดินเพลินตั้งแต่หัวถนนไปจนสุดตลาด เพราะเกสต์เฮ้าส์ที่ฉันพัก อยู่เลยไปอีกหน่อย
วันรุ่งขึ้น รถม้ามารับฉันถึงเกสต์เฮ้าส์ หลังจากตกลงเรื่องราคา และเส้นทาง ซึ่งฉันเลือกไปฝั่งถนนท่ามะโอ และวังเหนือ
กุบกับ กุบกับ ...เจ้ารถม้าพาข้ามสะพานไม่ได้ เพราะลงไปจะเจอไฟแดง เบรกยาก เลยอ้อมไปหน้าจวนผู้ว่าฯแทน ผ่านสำนักงานเขตป่าไม้ ที่ว่ากันว่าอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ฉันยังได้เห็นบ้านข้าราชการแบบโบราณที่ยังอนุรักษ์ไว้ และบ้านข้าราชการสมัยหลัง ฉันแวะที่ วัดประตูป่อง วัดเก่าแก่ย่านชุมชนท่ามะโอ สวยงามทีเดียวกับศิลปะล้านนาผสมผสานกับพม่า
ถนนเส้นนี้ มีบ้านไม้โบราณที่ยังอนุรักษ์ไว้ หลังใหญ่โต เป็นบ้านคหบดีต้นตระกูลใหญ่ๆ รวมถึง "บ้านเสานัก" ที่แปลความว่า บ้านที่มีเสามาก ก็มีมากจริงๆ ถึง 116 ต้น บ้านหลังนี้สร้างเมื่อปี 2438 โดยคหบดีพ่อค้าชื่อหม่อง จันทร์โอง ที่เข้ามาบุกเบิกทำไม้ ต้นตระกูลที่ไล่เรียงลงมาถึงตระกูลจันทรวิโรจน์ในปัจจุบัน ใครจะเข้าชมบ้านเสานักก็เสียค่าบำรุงรักษาสถานที่นิดหน่อย ซึ่งฉันว่าคุ้มค่าทีเดียวกับการได้แตะต้องเรือนไม้เก่าแก่ อายุกว่า 100 ปี ได้เห็นลวดลาย ความสวยงามของศิลปะล้านนาผสมพม่า
"ลุงตู่" คนขับรถม้าบอกว่า ถ้าชอบเงียบๆ มาพักฝั่งนี้ก็ดี เช้าๆ ก็ออกเดินเล่น ถ่ายรูปบ้านเก่าได้ แล้วเย็นวันศุกร์ก็จะมีถนนคนเดิน ที่ถนนสายวัฒนธรรม รถม้าพาฉันผ่าน "กู่เจ้าย่าสุตา" วนมาออกวัดปงสนุก ที่อยู่ไม่ไกลจากสะพานรัษฎาฯ
วัดปงสนุก วัดเก่าแก่ที่เงียบสงบ วัดนี้ได้รับรางวัล "Asia Pacific Heritage Awards of Merit 2008" จากองค์กรยูเนสโก ตัววัดแยกเป็นวันปงสนุกเหนือและใต้ แต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน มีสัญลักษณ์ที่แนวกำแพงที่ลวดลายต่างกัน บอกให้รู้ฝั่งเหนือและใต้ ตรงกลางเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งมีพระพุทธรูป 4 องค์ หันพระพักตร์ออกสี่ทิศ
ฉันเดินลงบันได ไปฝั่งวัดปงสนุกเหนือ ได้เห็นของเก่าคู่บ้านคู่เมือง ที่ศูนย์อนุรักษ์โบราณวัตถุวัดปงสนุกเหนือ อ้อ หน้าโบสถ์วัดปงสนุกเหนือ มีรูปปั้นหน้าบันได เป็นรูปจระเข้ กลืนพญานาคด้วย เห็นพญานาคโผล่มาแค่ช่วงคอกับหัว ซึ่งฉันว่าแปลกดี
วัดปงสนุก เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างมาสมัยสร้างเมืองเขลางค์นคร ปี พ.ศ.1223 มีชื่อเรียกถึง 4 ชื่อ คือวัดศรีจอมไคล, วัดศรีเชียงภูมิ, วัดดอนแก้ว และวัดพะยาว(พะเยา) แต่ที่พบในประวัติของบ้านจะมีอยู่ 2 ชื่อ คือวัดพะยาวและวัดปงสนุก เนื่องจากเป็นที่อยู่ของชาวปงสนุก จากเมืองเชียงแสน และชาวพะเยา ที่อพยพมาอยู่ หลังจากถูกตีเมืองแตก พอบ้านเมืองสงบ ชาวพะเยาอพยพกลับไป เหลือแต่ชาวปงสนุก ที่ยึดเป็นบ้านเกิดเมืองนอนมาถึงวันนี้
วัดปงสนุกยังมีความสำคัญ เพราะเป็นสถานที่ดำน้ำชิงเมือง และ เคยเป็นวัดสะดือเมือง หรือสถานที่ฝังเสาหลักเมือง หลักแรก เมื่อปี 2400 แต่ต่อมานำไปฝังไว้ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ลำปาง ... จังหวัดที่ใครต่อใครมักใช้เป็นทางผ่านไปสู่จังหวัดที่ใหญ่กว่าในภาคเหนือ จังหวัดที่รู้จักกันว่าเป็นเมืองเซรามิก และเมืองแห่งรถม้า แต่พอฉันได้มาเยือน กลับพบว่า เมืองนี้ที่ดูเหมือนจะเล็ก แต่ไม่เล็กในความหมาย เป็นเมืองที่มีกลิ่นอายของอดีตผสมผสานกับปัจจุบันอย่างลงตัว และกำลังจะเป็นเมืองมหาวิทยาลัยในอนาคตอีกด้วย
เรื่อง/ภาพ โดย นพพร วิจิตร์วงษ์