ไลฟ์สไตล์

ศูนย์เด็กเล็กในโรงงานยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในอนาคต

ศูนย์เด็กเล็กในโรงงานยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในอนาคต

25 พ.ค. 2554

“เด็ก” คืออนาคตของชาติ และเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของทุกประเทศ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงวัยเรียน แต่สภาพสังคมในปัจจุบัน พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้านได้เหมือนในอดีต วิธีการ “เลี้ยงลูก” จึงเปลี่ยนไป

 โดยส่วนใหญ่มักจะหาทางออกโดยการส่งลูกกลับไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ต่างจังหวัดเลี้ยง หรือไม่ก็ฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กต่างๆ ส่วนคนมีฐานะดี ก็มีโอกาสเลี้ยงลูกเอง หรือไม่ก็จ้างพี่เลี้ยงส่วนตัวได้

 น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี (กบส.) กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถส่งลูกไปที่เนิร์สเซอรี่ดีๆ ได้ ทางออกคือส่งลูกไปต่างจังหวัด หรือไม่ก็จ้างเลี้ยงไปตามฐานะ โดยแต่ละปี เจอลูกไม่กี่ครั้ง ที่ไม่ได้ส่งไปก็ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่เด็กก็ไม่ได้กินนมแม่ เพราะแม่ต้องกลับไปทำงาน

 “เมื่อเด็กโตขึ้นมาก็มักจะมีปัญหาขาดความอบอุ่น แล้วก็ลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งทางกลุ่มได้เสนอข้อเรียกร้องไปกับรัฐบาลมาตลอดว่า ขอให้ปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ให้มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม และคุณภาพของครู เพราะเด็กทุกคน จะเป็นอนาคตของพวกเรา" ประธาน กบส.กล่าว

   นอกจากนี้ พ่อแม่ที่ทำงานในโรงงานหลายแห่ง ไม่ได้เลิกงานตามเวลาปกติของคนทั่วไป เพราะการทำงานแบ่งเป็นกะ มีตั้งแต่ 08.00-17.00 น. เข้า 16.00 น. ออกเที่ยงคืน และเข้าดึก ออกเช้า ซึ่งอยากเสนอให้ศูนย์เด็กเล็กปรับเปลี่ยนเวลาของครูและพี่เลี้ยงให้ตรงกับเวลาทำงานของคนงานด้วย โดยเฉพาะในแหล่งที่มีคนงานจำนวนมาก มิฉะนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ ก็ต้องส่งกลับไปต่างจังหวัด

 นางกัญชพร คำนาสัก อายุ 31 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เพิ่งคลอดลูกคนที่ 2 โดยคนแรกส่งไปเลี้ยงที่เนิร์สเซอรี่ ได้เจอลูกทุกวันหลังเลิกงาน และตอนกลางคืน ไม่อยากส่งไปเลี้ยงที่ต่างจังหวัดเพราะนานๆ ถึงจะได้เจอกันครั้งนึง แต่อย่างน้อยเธอก็มีทางเลือก ขณะที่ยังมีอีกหลายคนไม่มีเงินพอที่จะจ้างเลี้ยงก็ต้องส่งกลับบ้าน หรือไม่ก็อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งบางแห่งมีพี่เลี้ยง 1 คนต้องดูแลเด็กถึง 15 คน ภาวะเช่นนี้เด็กโตมาก็อาจมีปัญหาได้

 นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้ผลักดันและส่งเสริมให้สถานประกอบการต่างๆ จัดตั้งศูนย์เด็กเล็กขึ้น หากไม่สะดวกในเรื่องสถานที่ เช่นมีกลิ่นสารเคมี หรือสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย ก็ขอให้จัดหาสถานที่ใหม่ หรือไม่ก็ขอให้เข้าไปใช้ศูนย์เด็กเล็กที่องค์การบริหารท้องถิ่นมีอยู่ แล้วสนุบสนุนเงิน หรืออื่นๆ แทน

 ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กเล็ก โดยให้ภาคธุรกิจ เอกชน ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนปฏิรูปประเทศไทย ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และขยายสวัสดิการสังคมไปยังกลุ่มเด็กเล็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ

 "นั่นคือมาตรการลดหย่อนภาษีเป็นจำนวน 2 เท่า ให้แก่นายจ้างที่จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ และบุคคลทั่วไป รวมทั้งนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้ อปท.เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เด็กเล็ก โดยในส่วนของลูกจ้าง ก็ไม่ต้องนำเงินได้จากสวัสดิการดูแลเด็กเล็กที่นายจ้างจัดให้ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" อธิบดี กสร.กล่าว

 ที่ผ่านมา กสร.ได้จัดสวัสดิการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็ก ในสถานประกอบการให้แก่เด็กอายุ 3-5 ปี จำนวน 50 แห่ง ที่ดูแลเด็กได้กว่า 3,000 คน สามารถช่วยประหยัดเงินค่าเลี้ยงดูบุตรได้ถึงคนละ 2,200 บาทต่อเดือน คิดเป็นเงิน 75.24 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งจัดให้บุตรของผู้ใช้แรงงานได้มีโอกาสใช้บริการของศูนย์เด็กเล็กของ อปท.จำนวน 1.9 หมื่นแห่ง สามารถดูแลเด็กได้ถึง 7 แสนคน

 “ตอนนี้เราพยายามส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กที่ตอบสนองความต้องการของลูกจ้างให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงความสะดวกของลูกจ้าง และวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ เช่นกิจการก่อสร้างอาจไม่จำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กภายในพื้นที่ก่อสร้าง หรืออาจจะไปรวมกับศูนย์เด็กเล็กของ อปท.ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วก็ได้” อธิบดี กสร.กล่าวทิ้งท้าย

 ไม่ว่าจะคนรวยหรือจน ทุกคนต่างมีลูกเป็นแก้วตาดวงใจ และที่สำคัญคือ เด็กทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ ซึ่งเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมที่จะต้องช่วยกัน หากประเทศเราเต็มไปด้วยคนที่ขาดคุณภาพ อนาคตไม่สามารถพัฒนาได้

 0  หทัยรัตน์  ดีประเสริฐ 0 รายงาน