
ในอ้อมกอดเทือกเขาถนนธงชัยและสายน้ำเมย.แม่สอด
แม่สอด เมืองเก่าแก่กว่าร้อยปี ตั้งเป็นอำเภอมาตั้งแต่ พ.ศ. 2411 เดิมว่าเป็นเมืองฉอดของขุนสามชน ตั้งอยู่ติดกับกรุงสุโขทัยด้านตะวันตก บ้างว่าตั้งตามชื่อลำห้วยแม่สอดที่มีน้ำไหลคดเคี้ยวสอดไปมาตลอดเส้น
“ บ้างก็บอกมาจาก เหม่ช็อค ภาษามอญแปลว่าดินแดนที่มีพม่ามาเสียชีวิตจำนวนมาก ภายหลังเพี้ยนเป็นแม่สอด แต่ไม่ว่าจะมีความเป็นมาของชื่อเมืองอย่างไร ปัจจุบันแม่สอดนับเป็นอำเภอที่มีความสำคัญมากของจังหวัดตาก เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดน ศูนย์กลางทางการค้าและท่องเที่ยวทางฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะไปอำเภออุ้มผาง แม่ระมาด ท่าสองยาง จังหวัดตาก ไปถึงอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ทางด้านเมืองเมียวดีและอีกหลายเมืองในฝั่งพม่าก็ยังใช้อำเภอนี้เป็นที่จับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคและการรักษาพยาบาล อีกทั้งยังมีจำนวนประชากรที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นคนเมือง ชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ตลอดจนชาวต่างด้าวที่เข้ามาทำงานบ้านเรา จึงไม่แปลกที่บ้านเมืองในแม่สอดจึงดูเจริญเติบโตไม่แพ้เมืองใหญ่ๆ และปฏิเสธไม่ได้ว่าแม่สอดมีรายได้ทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตสูงกว่าตัวจังหวัดตากเองเสียอีก หรือแม้แต่จังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือ
และด้วยตามกรอบความร่วมมือที่ทำให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกันในประเทศภูมิภาคอาเซียน แม่สอดยังถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญในการเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้มีการจัดทำเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่เชื่อมระหว่างเมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า และเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 12 (แม่สอด- มุกดาหาร) โดยมุกดาหารมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อเข้าไปยังประเทศลาวและเวียดนาม ขณะที่อำเภอแม่สอดมีสะพานข้ามแม่น้ำเมยเข้าสู่ประเทศพม่า การค้าระหว่างกันจึงดำเนินขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอนาคต
แม้วันนี้แม่สอดแลอาจดูซบเซาลงไปบ้าง ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก บรรดาร้านค้าในตัวเมืองโดยเฉพาะแหล่งขายอัญมณีทั้งจากไทยและพม่าโดยเฉพาะหยกและทับทิมมีเปิดอยู่ไม่กี่ร้าน บริเวณตลาดริมเมยก็เงียบเหงา อาจเพราะพิษการเมืองทางฝั่งเพื่อนบ้าน และภาพรวมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้การค้าขายชายแดนต้องสะดุด อีกสาเหตุหนึ่งอาจยังไม่ถึงเทศกาลท่องเที่ยว โดยปกติตลาดเมืองนี้จะมีสินค้านานาชนิดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นของเก่าจำพวกนาฬิกา ตะเกียง ตู้ โต๊ะ ฯลฯ ตลอดจนสินค้าพื้นเมืองจำพวก เห็ดหอม หน่อไม้แห้ง ปลาแห้ง หมูยอ ไก่ยอ ผ้าซิ่น ผ้าไหม และขนมต่างๆ คล้ายตลาดหาดใหญ่
สะพานมิตรภาพเชื่อมผ่านแม่น้ำเมยก็ไม่มีรถวิ่ง มีเพียงชาวพม่าที่เดินข้ามมาทำเรื่องเข้าฝั่งไทย มองไปอีกฝั่งคือเมืองเมียวดี ประเทศพม่า มีชุมชนตั้งอยู่ริมน้ำตลอดแนว บ้านเป็นไม้สร้างแบบเรียบง่ายคล้ายกับบ้านชนบทฝั่งไทย แม่น้ำเมยหรือที่คนพม่าเรียก “ต่องยิน” จะแตกต่างจากแม่น้ำอื่นๆ คือจะไหลย้อนขึ้น จากต้นกำเนิดอำเภอพบพระ ผ่านอำเภอแม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง ไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่อำเภอสบเมย จากนั้นไหลรวมกับแม่น้ำสาละวินเข้าพม่าแล้วลงทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ
หลายคนที่เคยมาแม่สอดจะพบว่าเมืองนี้ไม่ได้เป็นแหล่งค้าขายชายแดนเท่านั้น หากยังเป็นเมืองแห่งไมตรีจิตของผู้คนและมีศิลปวัฒนธรรมงดงามดังจะเห็นได้จากวัดวาอารามที่นี่มีหลายแห่งน่าสนใจอย่างเช่นวัดที่อยู่ใกล้ตลาดริมเมย คือ วัดไทยวัฒนาราม เป็นวัดพุทธนิกายมหายาน วิหาร ศาลาการเปรียญ จะมีไม้แกะสลักลายฉลุสวยงาม และรูปทรงของตัวอาคารซึ่งได้รับอิทธิพลจากพม่าโดยตรง นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระพุทธมหามุนี ปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ที่มีความอ่อนช้อยและงดงามมาก นำมาจากเมืองมัณฑะเลย์ เดิมวัดนี้มีชื่อว่า “วัดแม่ตาวเงี้ยว” สร้างในปี พ.ศ. 2410 โดยชาวพม่าที่อพยพครอบครัวมาอยู่แม่สอดและเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
ออกจากวัดไทยวัฒนารามไปตามทางลาดยางเล็กๆ ของทางหลวงหมายเลข 1085 เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 2 กม.จะพบด่านตรวจของทหาร ขับตรงไปอีกราว 3 กม.ถึง วัดพระธาตุหินกิ่ว ซึ่งลักษณะเป็นก้อนหินตั้งอยู่บนชะง่อนผาเหมือนหินที่คอดกิ่วจนเกือบจะขาดออกจากกัน มีเจดีย์ทรงมอญขนาดได้สัดส่วนกับก้อนหิน คล้ายพระธาตุอินทร์แขวนอันสวยงามของเมืองไจก์โถ่ รัฐมอญ ประเทศพม่า เพียงแต่ไม่มีทองปิดบนหินและองค์เจดีย์ ทางเดินขึ้นเรียกเหงื่อได้พอควร ทำเป็นบันไดปูนประมาณ 450 ขั้นให้เดินขึ้นสะดวก นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ถ้ำและรอยพระพุทธบาท หากใครยังไม่เมื่อยก็เดินไปชมกันได้
ผมกลับเข้าไปในเมืองแม่สอดอีกครั้งเพื่อไปชม วัดชุมพลคีรี วัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี มีเจดีย์สร้างจำลองมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า รอบเจดีย์จะมีถนนสำหรับให้ชาวบ้านได้สัญจรไปมาอีกด้วย ส่วนวิหารนั้นเป็นที่เก็บกลองโบราณอายุเก่าแก่พอๆ กับอายุวัด ไม่ไกลกันนักจะพบ วัดมณีไพรสณฑ์ วัดที่มีเจดีย์วิหารสัมพุทเธ ด้านบนมีองค์เจดีย์เล็กๆ รายล้อมอยู่ 233 องค์และพระพุทธรูปบรรจุอยู่ถึง 512,028 องค์เชียวแหละ อีกทั้งยังมีโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปี แต่เสียดายที่ปิดไม่สามารถเข้าไปข้างในได้
อย่างที่กล่าวไปแล้ว แม่สอดเปรียบได้ดั่งศูนย์กลางการค้าเศรษฐกิจที่สำคัญของตากฝั่งตะวันตก และยังเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวส่วนต่างๆ ในฝั่งตะวันตกอีกด้วย ซึ่งจากแม่สอดก็ต้องเลือกเอาล่ะครับว่าจะเลือกไปทางไหนก่อนดี ระหว่างทางหนึ่งมุ่งไปยังอำเภอพบพระกับอำเภออุ้มผาง อีกทางมุ่งไปทางอำเภอแม่ระมาดและอำเภอท่าสองยาง โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 ตามเดิม ส่วนทางไปพบพระกับอุ้มผางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1090 ไปตามเส้นทางที่ได้ชื่อว่าแผ่นดินดอยลอยฟ้า และสู่ผืนป่าตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดของไทย เป็นดินแดนสำหรับผู้ชื่นชอบธรรมชาติป่าเขาโดยแท้ ....ใครที่กำลังจะมาเยือนถิ่นเมืองตาก เชื่อว่าไม่น่าพลาดแวะเวียนเข้าสัมผัสบรรยากาศแม่สอดแห่งนี้
เรื่อง/ ภาพ: อำนวยพร บุญจำรัส
www.oknation.net/blog/tava001