
ตอน : เรื่องเก่าเล่าใหม่ตอนที่5ซากอเลาะห์การศึกษาศาสนาสู่ระดับอินเตอร์
เรื่องเก่าเล่าใหม่มาถึงตอนที่ 5 เป็นตอนที่เริ่มเข้าสู่ยุคทันสมัยในด้านการศึกษาศาสนามากขึ้นแม้จะเป็นแค่การศึกษาในหมู่บ้านชนบทแถวต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซากอเลาะห์ภาษาบ้านๆ
สำเนียงมลายูปัตตานี หมายถึงโรงเรียนที่มีระดับชั้นเรียน มีโต๊ะเก้าอี้ มีครูประจำแต่ละวิชา มีการสอบวัดผลและการเลื่อนชั้น ตลอดจนจบการศึกษาแล้วได้เป็นครูสอนต่อไปหรืออาจต่อระดับที่สูงขึ้น ซากอเลาะห์ก็เปรียบเสมือนโรงเรียนสามัญที่มีระดับประถมจนถึงมัธยมปลายของไทย
ซากอเลาะห์ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจารย์หรือครูผู้สอนประจำวิชาจะเรียกกันว่า อุสตาส ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ พอจะชี้แนะได้ว่าเป็นผู้จบการศึกษามา ส่วนใหญ่จะจบจากต่างประเทศ มีความรู้ความสามารถในภาษาอาหรับเป็นอย่างดี ซากอเลาะห์จะเน้นในเรื่องหนังสือเรียนภาษามลายู ภาษารูมี (ภาษามาเลย์) โดยเฉพาะภาษาอาหรับซึ่งไม่ใช้ภาษาไทย วิชาที่ทำการสอนไม่ใช่จำกัดเฉพาะเรื่องศาสนาอย่างเดียวหาก แต่เรื่องภาษามีความสำคัญไม่ต่างกัน และมีการเปรียบเทียบระหว่างสังคมต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อสร้างมุมมองให้แก่นักศึกษาได้เป็นอย่างดี ในด้านการแต่งกายนักศึกษามีความแตกต่างกันแล้วแต่ผู้อำนวยการหรือโต๊ะฆูฆูของซากอเลาะห์ แต่ละระดับการศึกษาก็จะมีชุดเครื่องแบบที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎศาสนาอย่างเคร่งครัดทั้งนักศึกษาหญิงและชาย อาจารย์จะทำการสอนด้วยภาษามลายูหรือบางระดับชั้นอาจใช้ภาษาอาหรับบ้างแล้วแต่โอกาส
ระดับการศึกษาระบบซากอเลาะห์โดยทั่วไปพอจะแยกได้ดังต่อไปนี้ 1. อิบตีดาอียะห์ (ระดับประถม 1-4) 2. มูตาวัซซีเตาะห์ หรือเอียะดาดียะห์ (ระดับมัธยมต้น 5-7) 4.ซานาวียะห์ (ระดับมัธยมปลาย 8-10) การเรียนการสอนมีความสอดคล้องกับหลักสูตรในต่างประเทศทั้งในโลกตะวันออกกลางโดยเฉพาะประเทศอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย เอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน อินเดีย หรือประเทศในกลุ่มอาเซียนเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไนดารุสซาลาม เมื่อจบการศึกษาระดับซานาวียะห์ก็สามารถศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศที่กล่าวมาแล้วได้อย่างกว้างขวาง เพราะภาษาหลักคือภาษาอาหรับ ระบบซากอเลาะห์จะมีการจัดกิจกรรมการสังสรรค์แลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วแต่โอกาส ภาษาที่นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้เรียนในซากอเลาะห์ สามารถนำมาใช้ได้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่เคอะเขิน และไม่ต้องใช้ล่ามในการเข้าหาแต่อย่างใด ซากอเลาะจึงเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้นักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีจุดยืนที่เข้มแข็ง การศึกษาในระบบซากอเลาะห์ในปัตตานีมีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของสังคมในประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก อาหรับให้การยอมรับในเรื่องการใช้ไวยากรณ์ภาษาอาหรับกับอุสตาสที่มาจากปัตตานีด้วยซ้ำไป
นักศึกษาด้านสามัญของไทยสนับสนุนภาษาไทยภาษาอังกฤษและมุ่งพัฒนาในด้านสาขาวิชาชีพและการอยู่รอดบนโลกนี้ เป้าหมายหลักของการศึกษาคือการประกอบอาชีพและอยู่ในสังคมอย่างชาญฉลาด ซึ่งต่างจากมุมมองของนักศึกษาศาสนาที่ปลูกฝังมาตั้งแต่ระบบปอเนาะ ระบบตาดีกา และระบบซากอเลาะห์ จะเห็นได้ว่าสังคมไทยพูดภาษาไทยกับสังคมมลายูในปัตตานีมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่ไม่ได้มีความแตกแยกกันแต่อย่างใด แล้วการแตกแยกและแตกต่างมันเริ่มมีขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อไหร่ และเพราะอะไร
คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิมคิดว่าหลายๆ คนคงเข้าใจว่า ทำไมเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ การเรียนในระบบซากูเลาะห์หรือระบบใดๆ ก็ตาม เนื้อหาและตัวบทไม่ได้สนับสนุนในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรือการฝังหัวแต่อย่างใด แต่เพราะพี่น้องปัตตานียังคงไม่ลืมรากเหง้าของตัวเองต่างหากที่ทำให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่เราเห็น การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุและคำเขาเล่าผ่านรายงานเอกสารเท่านั้น