ไลฟ์สไตล์

โอกาสทองส่งออกมะม่วงไทยต้องกำหนดมาตรฐานเดียวกัน

โอกาสทองส่งออกมะม่วงไทยต้องกำหนดมาตรฐานเดียวกัน

16 พ.ค. 2554

แม้ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าสถานการณ์ส่งออกมะม่วงของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นอาจลดน้อยลง อันเนื่องมาจากประเทศญี่ปุ่นประสบภัยสึนามิ จนทำให้มีการระงับออเดอร์ส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากประเทศไทยกว่า 1,000 ตัน

 ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ นายต้อย ตั้งวิชัย อุปนายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ยืนยันว่าทุกวันนี้ยังสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้ตามปกติ ข่าวที่ออกมาเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนทำให้เกิดความสับสน เพราะในความเป็นจริงเมืองที่ไทยส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กับเมืองที่ประสบภัยซึนามิอยู่คนละเมืองกัน เพียงแต่ช่วงที่เกิดภัยสึนามิในช่วงแรกๆ ที่ไม่สามารถส่งออกได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสายการบินที่ไม่มีเครื่องบินบินไปส่งผลผลิตเท่านั้น แถมยังมั่นใจว่าหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นอาจมีออเดอร์เพิ่มอีกเป็น 3,000 ตันก็ได้ แต่ทั้งนี้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเพื่อส่งออกต้องรักษาคุณภาพของความหวานตามมาตรฐานส่งออกด้วย

 "ตอนนี้สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกปลูกมะม่วงเน้นส่งออกอยู่ 22 จังหวัด จำนวน 220 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกเกือบ 1 แสนไร่ ส่วนใหญ่จะหลายพันธุ์ อาทิ น้ำดอกไม้ น้ำดอกไม้สีทอง ฟ้าลั่น โชคอนันต์ และเขียวเสวย เป็นต้น เน้นปลูกเพื่อการส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะมะม่วงนอกฤดูกาล เกษตรกรสามารถผลิตได้ขนาดและได้ความหวานตามมาตรฐานการส่งออกได้ โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญ และรับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือประเทศเวียดนาม จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ซึ่งแต่ละปีเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากไทยประมาณ 1,500 ตัน ในราคา กก.ละ 50-60 บาท คิดเป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท" นายต้อย กล่าว

 สอดคล้องกับ นายมานพ แก้ววงษ์นุกูล นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย และประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก จ.ฉะเชิงเทรา ที่บอกว่า ตลาดมะม่วงในประเทศญี่ปุ่นนั้นยังสดใสและยังเป็นตลาดหลัก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสามารถแซงตลาดมะม่วงในประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับสองรองจากเม็กซิโก จากเดิมที่ฟิลิปปินส์ครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ฟิลิปปินส์ตกอยู่อันดับสาม ที่สำคัญขณะนี้ญี่ปุ่นยังต้องการนำเข้ามะม่วงอีกจำนวนมาก เพียงแต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ค่อนค้างจะเข้มงวดในการกำหนดมาตรฐาน เกษตรกรต้องผลิตได้ตามมาตรฐานที่ญี่ปุ่นกำหนด  

 อย่างไรก็ตาม นายมานพ ยอมรับว่า แม้ทุกวันนี้ตลาดส่งออกมะม่วงขยายเพิ่มขึ้น แต่การผลิตมะม่วงในฤดูกาลตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม จะล้นตลาดเพราะมีผลผลิตออกมากที่สุด ดังนั้นสมาคมมีการหารือกับสมาชิกว่าจะลดปริมาณการผลิตในช่วงฤดูปกติอย่างน้อย 10% และบังคับให้มะม่วงออกนอกฤดูกาลการแทน ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว และหากเป็นไปตามนี้ต่อไปปัญหามะม่วงล้นตลาดก็จะหมดไป และที่สำคัญผู้ที่ผลิตมะม่วงนอกฤดูกาลจะได้ราคาดีอีกด้วย

 "ที่จริงมะม่วงบ้านจะออกผลผลิตตลอดปี แต่ออกน้อย ประปราย จะออกผลผลิตมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ขึ้นอยู่กับสภาพของภูมิอากาศ ฉะนั้นต่อไปเราจะต้องกำหนดโซนการผลิตมะม่วงนอกฤดูกาล คือช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นมะม่วงที่มาจากภาคตะวันออก พอปลายเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เป็นภาคเหนือ พอถึงเดือนกันยายน-ตุลาคม มะม่วงจากภาคอีสานโดยเฉพาะแถวปากช่อง จ.นครราชสีมา และเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จากภาคใต้ รวมถึงประจวบคีรีขันธ์ หากสามารถทำผลผลิตให้มีทั้งปีได้ จะช่วยทำให้ปัญหามะม่วงล้นตลาดหมดไป และที่สำคัญจะทำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก" นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย กล่าว

 ดูเหมือนจะเป็นแนวทางเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ดำเนิน 5 กลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกมะม่วงแบบยั่งยืนเพื่อการส่งออก ที่เริ่มในปี 2553 และจะสิ้นสุดในปี 2557 พร้อมกับจะมีการจัดโซนการปลูกมะม่วงคุณภาพสูงใน 6 จังหวัดของภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ สระแก้ว ปราจีนบุรี และชลบุรี เพื่อรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการมะม่วงในปริมาณสูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ คาดว่าจากกลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ไทยมีผลผลิตมะม่วงจาก 6 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการถึง 126,000 ตัน ในปี 2557

  ระหว่างการจัดงานเทศกาลมะม่วง ครั้งที่ 5 ที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ระบุว่า มะม่วงในประเทศไทยได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป มีการสั่งมะม่วงจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 10% มะม่วงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ และมหาชนก เพราะเมื่อสุกแล้วจะมีรสชาติหอมหวาน เฉพาะใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการปลูกมะม่วงมากที่สุด มีพื้นที่ปลูกกว่า 7 หมื่นไร่ รายได้ส่งออกมีมูลค่า 600-700 ล้านบาท

 ล่าสุด นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในระหว่างที่มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงระดับประเทศปี 2554 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กรมส่งเสริมการเกษตรว่า มะม่วงเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพสามารถปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศ เป็นผลไม้เขตร้อนที่ปลูกมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกและปลูกมากที่สุดในประเทศไทย ปริมาณการส่งออกถึง 47,613 ตัน มีมูลค่า 1,493 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมจึงดำเนินโครงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงระดับประเทศขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดเวทีเครือข่ายในการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูป ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง ผู้ส่งออก และสถาบันวิชาการต่างๆ เนื่องจากมะม่วงเป็นไม้ผลที่มีศักยภาพ สามารถปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศนั่นเอง

 "การที่จะพัฒนามะม่วงไทยให้มีศักยภาพในระยะสั้นนั้น จะเน้นในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรโดยเฉพาะสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ที่ต้องขยายความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ให้มีการรับสมัครสมาชิกเพิ่ม มีการวางแผนการตลาด การหารายได้ แผนการผลิต การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพมะม่วง ในส่วนของระยะยาวภาครัฐจะสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งการผลิตโดยนำระบบไอที มาช่วยในการปรับการจัดการ การผลิต การตลาด เก็บข้อมูลทางด้านเทคโนโลยี การรับรองคุณภาพ แผนที่ภูมิสารสนเทศ ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายนอกผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และให้สมาคมชาวสวนมะม่วงไทยกำหนดมาตรฐานสินค้าในทิศทางเดียวกันด้วย" อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

 หากประเมินจากหลายๆ ส่วนแล้ว ดูเหมือนว่ามะม่วงไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เพียงแต่ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ผู้ส่งออก และภาครัฐ ต้องกำหนดกรอบภายใต้เงื่อนไขของตลาดที่ต้องการไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากผู้ซื้อนั่นเอง     

ดลมนัส  กาเจ