ไลฟ์สไตล์

อาการมือชา

อาการมือชา

06 พ.ค. 2554

มือชา เป็นอาการที่พบบ่อย เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กระดูกคอเสื่อม กล้ามเนื้อคอและสะบักเกร็งตัว หรือมีพังผืดที่ข้อมือกดรัดเส้นประสาทมีเดียน เนื่องจากโรคพังผืดที่ข้อมือกดรัดเส้นประสาทเป็นโรคที่พบได้บ่อย

 มักพบในคนที่ต้องใช้มือ หรือข้อมือมากๆ ในชีวิตประจำวัน หรือมีโรคประจำตัวอื่นที่มีผลต่อปลายประสาท เช่น เบาหวาน ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เป็นต้น
 นอกจากนี้ยังพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระยะใกล้คลอดอีกด้วย โรคนี้เกิดจากพังผืดซึ่งมีเป็นปกติบริเวณอุโมงค์ข้อมือหนาตัวขึ้น และไปกดทับเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งลอดใต้พังผืดนี้ ผ่านเข้าไปในอุโมงค์ข้อมือ

อาการ
 มักมีอาการชาปลายนิ้วมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง จะเป็นๆ หายๆ โดยมีอาการมากในเวลากลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องตื่นขึ้นมาสะบัดมือ เพื่อให้อาการชาน้อยลง จะมีอาการมากขึ้นในขณะทำงานที่ต้องใช้มือ เมื่อโรคดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการชาในบริเวณกว้างขึ้น และเริ่มมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมือ สังเกตเห็นกล้ามเนื้อบริเวณเนินฐานนิ้วหัวแม่มือลีบเล็กลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที

การรักษา
 ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค แนวทางการรักษาประกอบด้วยการรักษาโดยไม่ผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัด
 1.การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
 1.1 การรักษาโดยการใช้ยา ได้แก่ วิตามินบี เข้มข้น เพื่อบำรุงปลายประสาท ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบ นอกจากนี้แพทย์อาจใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ฉีดเข้าบริเวณอุโมงค์ข้อมือ เพื่อลดการอักเสบ
 1.2 การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพ ได้แก่ การทำอัลตราซาวนด์
 1.3 การสวมอุปกรณ์ประคองมือ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ
 2.การรักษาโดยการผ่าตัด
 หากผู้ป่วยมีอาการรบกวนชีวิตประจำวันมาก หรือโรคอยู่ในระยะรุนแรงมาก หรือการรักษาโดยไม่ผ่าตัดไม่ได้ผล อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ ไม่ใช่การผ่าตัดที่น่ากลัว สามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล มีแผลผ่าตัดยาวประมาณ 1 นิ้ว บริเวณฝ่ามือส่วนต้น และใส่เฝือกประมาณ 1 สัปดาห์

คำแนะนำ
 -หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้มือและข้อมือมากๆ โดยเฉพาะในท่างอเข้า หรือกระดกข้อมือขึ้น
 -ปรับเปลี่ยนโต๊ะ หรือเก้าอี้ให้เหมาะสม หรือเสริมอุปกรณ์สำหรับพักข้อมือเวลาเขียน พิมพ์งาน ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ข้อมือไม่ต้องกระดกขึ้นหรือลงมากเวลาใช้งาน
 -ออกกำลังกายเคลื่อนไหวมือบ่อยๆ ตามลักษณะดังภาพ (ขั้นตอน 1-6)

โรงพยาบาลศิครินทร์ โทร.1728