
ยังจะส่งเสริมปลูกยางพันธุ์"RRIM 600"อีกหรือ?
ในการจัดงาน "111 ปีแห่งการเรียนรู้ยางพาราไทย" ที่จัดโดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ระหว่างวันที่ 28-30 เมษายน 2554 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ได้มีการเปิดตัวและการจัดนิทรรศการยางพาราพันธุ์ใหม่ "อาอาร์ไอที408" (RRIT408) นับเป็น
ยางพาราพันธุ์ใหม่ที่ว่านี้ ว่ากันว่ามีจุดเด่นก็คือ ปลูกง่าย โตเร็ว ให้ปริมาณน้ำยางสูง ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ทนความแห้งแล้งได้ดี นับเป็นบุญวาสนาของเกษตรกรที่จะปลูกยางพาราในอนคต โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง
ก็เป็นเรื่องที่น่ายินมากครับ สำหรับวงการยางพาราของเรา เพราะเป็นเวลายาวนานเหลือเกินที่เรายังปลูกยางพาราพันธุ์เก่าแก่จนกลายเป็นพันธุ์ดึกดำบรรพ์ อย่างพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 (RRIM600) ซึ่งเป็นพันธุ์ยางพาราที่นำมาจากมาเลเซีย แต่มาเลเซียโละทิ้งและไม่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมานานแล้ว เนื่องเพราะนอกจากให้ผลผลิตน้อย (ภาคใต้เฉลี่ยให้ผลไร่ 260 กิโลกรัมต่อปี) แล้ว ยังเป็นพันธุ์ขี้โรคอีกด้วย โดยเฉพาะโรคไฟทอปธอรา
โรคไฟทอปธอรา ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง และระบาดในสวนยางพารามาหลายปีแล้วครับ นับวันจะขยายวงกว้างขึ้นทุกปี อย่างปีนี้หนักที่สุด เฉพาะในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ได้รับความเสียหายนับแสนๆ ไร่
โรคนี้จ้องแต่จะระบาดเฉพาะยางพาราพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 เท่านั้น ฉะนั้นถึงเวลาแล้วครับ ที่สำนักงานกองทุนเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ควรจะงดการส่งเสริมยางพาราพันธุ์นี้ เพราะวันนี้โรคไฟทอปธอราอาจจะระบาดในพื้นที่ภาคใต้ วันหนึ่งต้องลามไปถึงภาคตะวันออก และขยายวงกว้างไปถึงภาคอีสานอย่างแน่นอน
ที่จริงในบ้านเรามีพันธุ์ยางพาราที่ดีๆ กว่ามาเลเซียก็เยอะอยู่ครับ ส่วนหนึ่งอยู่ในกำมือของเกษตรกร และเอกชน แต่ทางสถาบันวิจัยยางไม่ได้ให้การรับรอง ทั้งที่ความจริง แม้แต่นักวิชาการด้านยางพาราของกรมวิชาการเกษตรระดับชำนาญการ ยังนำต้นกล้าของเอกชนแถวปะเหลียน จ.ตรัง ไปปลูกในสวนของตัวเอง
ในส่วนของภาครัฐนั้น คุณสุจินต์ แม้นเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง บอกว่า มีพันธุ์ดีๆ เยอะพอสมควร แต่การที่จะรับรองได้นั้นต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีสายพันธุ์คงที่จากทุกสภาพดิน บางครั้งต้องใช้เวลากว่า 10 ปีโน้น อย่างที่รับรองแล้วและให้ผลผลิตสูง อาทิ อาร์อาร์ไอที 251 และอาร์อาร์ไอที 251/1 ล่าสุดพันธุ์อาร์อาร์ไดที 408 นอกจากจะให้ผลผลิตสูงแล้ว ยังสามารถทนแล้งได้อีกด้วย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าผลิตไม่เพียงพอ
ตอนนี้ สกย.ก็มีเงินพอสมควรแล้ว ได้มาจากการเก็บเงินสงเคราะห์ปลูกยาง หรือ "เงินเซสส์" (CESS) อัตราใหม่ กิโลกรัมละ 5 บาท ถึงเวลาแล้วครับ! ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งพันธุ์กล้ายางพาราพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตสูงและต้านต่อโรค
แล้วพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 ยังจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอีกหรือ?
ดลมนัส กาเจ