
สวัสดิการคุณภาพชีวิตสาวโรงงานสปส.ส่งมาตรา40คุ้มครองอาชีพอิสระ
"1 ใน 9 ข้อ ที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ในโครงการประชาวิวัฒน์ คือให้ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับสิทธิประโยชน์เจ็บป่วยเสียชีวิต รวมถึงเบี้ยชราภาพ หรือประชาชนจ่ายเงิน 100/150 บาทต่อเดือน จ่าย 70 บาท รัฐสมทบ 30 บาท หรือ จ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท กรณีหลังจะ
ปัจจุบันคนไทยมี 69 ล้านคน แต่ละปีจะคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 7 แสนคน ร้อยละ 60 ของแรงงานมีรายได้ประจำไม่ถึงเดือนละ 6,000 บาท แรงงาน 1 คนต้องทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้จำนวนมากพอมาชดเชยค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่พอเลี้ยงชีพ และส่งให้อีกหลายชีวิตที่รออยู่ที่บ้านในชนบท
ขณะที่แรงงานนอกระบบ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2548-2552 พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจากร้อยละ 61.5 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 63.4 ในปี 2552 ถือเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด หรือ 24 ล้านคน กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ และ 1 ใน 3 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีหลักประกันการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน ไม่มีสวัสดิการ สิทธิการรักษาพยาบาล ได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนเฉลี่ย 3,732 บาท ในขณะที่แรงงานในระบบอยู่ที่ 10,800 บาท หรือมากกว่า 3 เท่า แต่ต้องทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานนอกระบบกว่าครึ่งหนึ่งยังอยู่นอกเขตเมือง ส่วนใหญ่ยังทำงานในภาคการเกษตร และกว่าร้อยละ 10 ยังเป็นแรงงานสูงอายุ
ในเดือนพฤษภาคมนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน 2553 จะบังคับใช้คุ้มครองแรงงานนอกระบบที่รับงานไปทำที่บ้านเพียงอาชีพเดียว แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับแรงงานนอกระบบ ได้รับเงินชดเชยกรณีการเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บที่เกิดจากเครื่องมือในการทำงาน การรับค่าตอบแทนเป็นไปตามคุณภาพและปริมาณงาน โดยเทียบเคียงกับการทำงานในสถานประกอบการ
พี่กานต์ สาวโรงาน Fabrinet โรงงานผลิตส่วนประกอบออพติคอลแนวหน้า ย่านอุตสาหกรรมคลองหลวง เรียนจบชั้น ม.6 เป็นคนกาฬสินธุ์ ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน 210 บาทต่อวัน ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดมากๆ รายได้ถึงจะเพียงพอค่าใช้จ่าย ใช้บริการประกันสังคมเวลาเจ็บป่วยหรือเข้าโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นอาการเจ็บไข้เล็กๆ น้อยๆ จะซื้อยาร้านหมอตี๋ หรือใช้บริการคลินิกที่อยู่ใกล้ๆ
"โรงงานมีรถรับส่ง มีเบี้ยเลี้ยงให้ และถ้าพนักงานทำงานล่วงเวลาจะได้เงินเพิ่ม ของขวัญที่อยากได้ในวันแรงงานแห่งชาติ คือ การขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบันที่สูงขึ้น และคิดว่าผู้ใช้แรงงานทุกท่านก็อยากได้ของขวัญชิ้นนี้เหมือนกัน” พี่กานต์กล่าว
"พี่ต้า" สมาน ลอยสายออ อาชีพขับรถแท็กซี่ จบป.4 ใช้สิทธิบัตรทองรักษาพยาบาล บอกว่าตอนนี้ความเป็นอยู่ย่ำแย่มาก คนใช้บริการรถแท็กซี่น้อยลง เพราะต้องใช้จ่ายประหยัด ใช้บริการรถเมล์ รถไฟฟ้า เงินที่หามาได้ต้องเสียค่าเช่ารถ 700 บาทต่อวัน คิดว่าแรงงานนอกระบบเห็นด้วยที่จะเข้าประกันสังคม มาตรา 40 ประมาณ 60% เพราะถ้ามีสวัสดิการอื่นๆ ให้แก่ผู้ใช้แรงงานนอกระบบก็คงจะดีมากกว่ามีบัตรทองอย่างเดียว แต่สงสัยในเรื่องสวัสดิการที่จะได้รับจากประกันสังคม ว่าจะได้รับอะไรบ้าง
การค้าขายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เป็นอาชีพอิสระ พี่ลิ อาชีพแม่ค้าขายผักในตลาดไท รังสิต บอกว่า เป็นนโยบายที่ดี เหมาะกับอาชีพที่ไม่มีเงินเดือนแน่นอน อย่างคนที่หาเช้ากินค่ำ ปัจจุบันใช้สิทธิบัตรทองในการรักษา หากมีการเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคมได้ ก็จะเป็นการดี เพราะจะได้สิทธิอื่นที่มากกว่าการรักษาพยาบาลได้
อย่างไรก็ตาม การเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบเข้า มาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 เป็นความสมัครใจ ขณะที่แรงงานในระบบจะถูกบังคับให้เข้ามาตรา 33 คำถามคือว่าวันนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดูแลแรงงานในระบบ 10 ล้านคน หากรวมแรงงานนอกระบบเข้าไปด้วย 24 ล้านคน จะจัดเก็บเงินเข้ากองทุน และจัดสิทธิประโยชน์อย่างไร หรือว่าจะแยกเป็นคนละส่วนงาน เพื่อการดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น และเรื่องนี้จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตาม
9 ข้อเรียกร้องแรงงาน
1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 2.ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้าง ในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน
3.ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และรายได้แห่งชาติทุกสาขาอาชีพ 3.1ให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า เข้มงวด และเอาผิดกับผู้ทำผิดกฎหมาย
4.ให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคม 4.1ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 มาตรา 39 กรณีการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ควรจ่ายเพียงเท่าเดียว 4.2ให้รัฐบาลนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 39 กลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ 4.3 ให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในอัตรา 50% ทุกกรณี 4.4 ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 โดยขยายสิทธิให้ผู้ประกันตนสามารถรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลในเครือประกันสังคม 4.5 ให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 มาตรา 33 โดยให้ขยายสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้าน เข้าเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้ โดยให้ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นนายจ้าง 4.6 ให้รัฐบาลยกระดับสำนักงานประกันสังคม เป็นองค์กรอิสระ
5.ให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 และยกเลิกการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ 6.ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้าง ในกรณีเงินค่าชดเชยและเงินรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย 7.ให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 118 ให้แก่ลูกจ้าง จากเดิม 10 ปีขึ้นไป เพิ่มอีกปีละ 30 วัน 8.ให้รัฐบาลจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ 9.ให้รัฐบาลรวมกฎหมายแรงงานทุกประเภทเป็นประมวลกฎหมายแรงงานฉบับเดียว และบังคับใช้ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
0 ศศิวรรณ อาษา 0