ไลฟ์สไตล์

ปั้น "พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา" ให้มีชีวิต

ปั้น "พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา" ให้มีชีวิต

21 เม.ย. 2554

บ้านไม้เก่าเรือนโบราณรูปแบบล้านนาที่เคยอยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาช้านานหลายร้อยปี ตอนนี้แทบไม่มีให้เห็น ส่วนใหญ่ถูกแทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน ที่ทำด้วยอิฐและปูนในสไตล์ร่วมสมัย อิงแอบวัฒนธรรมตะวันตก “พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา” นับเป็นอีกหนึ่งสถานท

  ผศ.วิลาวัณย์ เศวตเศรนี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว อ.เมือง ก่อนถึงตลาดต้นพยอม อยู่ในสังกัดสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนี้มีเรือนโบราณทั้งหมด 8 หลัง

 "เดิมทีที่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม สนับสนุนและเผยแพร่วัฒนธรรมในทุกระดับ และเป็นแหล่งรวบรวมคัมภีร์ใบลานภาษาล้านนา เอกสารบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวในอดีตกาล เปรียบเหมือนศูนย์ข้อมูลวิชาการ กระทั่งเจ้าของเรือนโบราณท่านหนึ่งมีความประสงค์บริจาคเรือนเพื่อให้อยู่ในความดูแล จึงถือเป็นจุดกำเนิด" ผศ.วิลาวัณย์ เล่า

 เรือนหลังแรกคือ "เรือนไทยลื้อ (หม่อนตุด)" ก่อสร้างเมื่อปี 2460 เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง ลักษณะเป็นเรือนแฝด ด้านตะวันออกเป็นเรือนนอนโล่งกว้าง ด้านตะวันตกเป็นเรือนครัว ระหว่างชายคาของเรือน เดิมเป็นของหม่อนตุด ตั้งอยู่บ้านเมืองลวงเหนือ ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด  ได้เคลื่อนย้ายและนำมาสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี 2536 มีอายุยาวนานกว่า 94 ปี หลังจากนั้นก็มีเรือนโบราณเพิ่มมากขึ้น โดยเจ้าของเรือนต้องการให้อนุรักษ์ไว้ ไม่อยากให้ทิ้งร้างหรือถูกทำลายโดยเปล่าประโยชน์ จึงยกให้ฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรับผิดชอบค่าขนย้ายเอง เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการขนย้ายและอนุรักษ์จาก-พันธุ์ทิพย์

 สำหรับเรือนโบราณที่อายุเก่าแก่ มีทั้ง เรือนกาแล (พญาวงศ์) สร้างเมื่อปี 2440 อายุกว่า 114 ปี เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง หลังคาทรงหน้าจั่ว มีกาแลเป็นลักษณะเด่น ถือเป็นเครื่องหมายของความเป็นสิริมงคล เดิมเป็นของพญาวงศ์ ตั้งอยู่ที่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน มียุ้งข้าวหรือหลองข้าว เป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่คู่กับเรือนของชาวล้านนา ใช้เก็บข้าวเปลือกไว้กินตลอดปี

 ผศ.วิลาวัณย์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรือนชาวเวียงเชียงใหม่ (พญาปงลังกา) เป็นอีกหนึ่งเรือนที่เก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อปี 2439 อายุราว 115 ปี เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง ลักษณะเป็นเรือนหลังคาทรงจั่ว สองจั่วเหลื่อมกัน เดิมตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ เจ้าของเดิมคือพญาปงลังกา ซึ่งมอบเรือนไว้ให้แก่บุตรหลานได้สืบทอดกันมา 5 รุ่น ก่อนจะมอบให้พิพิธภัณฑ์

 นอกจากนี้ ยังมีเรือนกาแล (อุ๊ยผัด) เดิมตั้งอยู่ที่ อ.จอมทอง มีหัมยนต์ติดบริเวณด้านบนของประตูห้องนอน ทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์คอยป้องกันและขับไล่อันตราย, เรือนพื้นบ้านล้านนา (อุ๊ยแก้ว) เป็นเรือนของคนที่อาศัยใกล้เวียงเชียงใหม่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, เรือนทรงปั้นหยา (หลวงอนุสารสุนทร), หลองข้าวสารภี สร้างขึ้นเมื่อปี 2450 ฯลฯ

 "ต้องยอมรับว่าที่นี่ยังไม่เป็นที่รู้จัก คนรู้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นคนในวงการสถาปัตยกรรมที่สนใจสิ่งก่อสร้างโบราณ และผู้ที่ชื่นชอบเท่านั้น เราอยากทำให้ที่นี่มีชีวิต ทุกคนสัมผัสได้จริง มาเที่ยว มาชม สัมผัสความงดงาม ภูมิปัญญาโบราณ จะมีการจัดกิจกรรมในเชิงรุกเพื่อให้ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา เป็นที่รู้จักมากขึ้น" ผศ.วิลาวัณย์ กล่าว

 และกิจกรรมแรกที่จะทำคือการบวชพระและการฟ้อนผี เป็นประเพณีการนับถือบรรพบุรุษ เพื่อเป็นการขอขมาเทวดาและต้นไม้ เพราะเพิ่งมีการตัดต้นไม้ ทำความสะอาดต้นไม้ส่วนที่รก โดยจะเริ่มในเดือนมิถุนายน ในเดือนตุลาคมจะเริ่มกิจกรรมเชิงรุก จัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งโครงการทัศนวันทาไหว้ยอสาภพพระบฎ เป็นการจัดนิทรรศการ แสดงดนตรีในสวน, โครงการเทศกาลกาดชากาแฟ ชิมขนม ชมงานศิลป์, โครงการนาฏคีตาบนลานพฤกษา และการสัมมนาวิชาการเหลียวหลังแลหน้า ล้านนาพุทธศิลป์ ฯลฯ ซึ่งจะทำต่อเนื่องจนถึงปี 2555

 ขณะเดียวกันในส่วนของการบริหารจัดการ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนานั้น ผศ.วิลาวัณย์ กล่าวว่า จะไม่เป็นเหมือนพิพิภัณฑ์ทั่วไปที่มีไกด์นำเที่ยวและพาเดินชม ซึ่งไม่น่าสนใจ แต่เราจะมีห้องวีดิทัศน์เกริ่นนำ ก่อนที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับของจริงเดินดูด้วยตัวเอง พร้อมกับเสียงบรรยายจากเทปที่อธิบายความเป็นมาของเรือนโบราณแต่ละหลังให้ได้ฟังตลอดทาง

 นอกจากนี้ เรือนแต่ละหลังจะไม่มีการนำสิ่งของมาวางตั้งประกอบ แต่จะใช้ภาพในการสื่อความหมาย เช่น จุดนี้เตียงตั้งอยู่ก็จะใช้รูปภาพขนาดใหญ่สื่อให้เห็นแทน เพราะเมื่อนำสิ่งของไปวางจะทำให้ยากแก่การทำความสะอาดและเก็บรักษา การสื่อด้วยภาพที่มีเรื่องเล่าน่าจะสื่อสารได้เข้าใจมากกว่า

 "เราอยากเห็นพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาแห่งนี้มีชีวิตชีวา มีผู้คนแวะเวียนมาชื่นชม เรียนรู้สถาปัตยกรรม ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้มีแค่เจ้าหน้าที่ พนักงานเพียงไม่กี่คนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เฝ้าเรือนไม้ที่มีอยู่โดยไม่ทำอะไรเลย อยากให้ที่นี่เป็นเหมือนอุทยานวัฒนธรรมบ้านโบราณ เป็น Culture Theme Park" ผศ.วิลาวัณย์ กล่าวทิ้งท้าย