
"อู่ทอง 10, 11 "อ้อย 2 พันธุ์ใหม่ ความหวานสูง-ต้านทานโรค
อ้อย เป็นพืชอุตสาหกรรมสำคัญชนิดหนึ่งของไทยที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันผลผลิตน้ำหนักอ้อยต่อไร่โดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากอายุเก็บเกี่ยวไม่ถึง 12 เดือน ขณะเดียวกันเกษตรกรขาดระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ขาดพันธุ์อ้อยที่เหมาะ
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยพันธุ์ใหม่ประสบผลสำเร็จเพิ่มอีก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์อู่ทอง 84-10 (U-Thong 84-10) และพันธุ์อู่ทอง 84-11 (U-Thong84-11) ซึ่งคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช ได้พิจารณาประกาศเป็น พันธุ์รับรอง และ พันธุ์แนะนำ ของกรมวิชาการเกษตรเพื่อเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรที่จะได้ใช้พันธุ์ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างอาชีพสร้างรายได้อีกด้วย
สำหรับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-10 เดิมชื่อ อ้อยโคลน 02-2-194 เกิดจากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์แม่ 97-2-535 กับพันธุ์พ่อ 94-2-128 โดยทีมนักวิจัยได้คัดเลือกปลูกทดสอบในแปลงทดลองเพื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์อ้อยมาตรฐาน และปลูกทดสอบในไร่ของเกษตรกร พบว่ามีศักยภาพการให้ผลผลิตสูง และเกษตรกรให้การยอมรับ โดยอ้อยพันธุ์นี้ลักษณะเด่น คือ หากปลูกในเขตชลประทานจะให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 19.77 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ซึ่งเป็นพันธุ์อ้อยมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 41 ทั้งยังให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.85 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 39
"ถ้าปลูกในเขตที่มีน้ำเสริม จะให้ผลผลิตเฉลี่ย 15.28 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 11 และให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.12 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 17 อีกทั้ง ยังต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงปานกลาง ทั้งนี้ ไม่ควรปลูกอ้อยอู่ทอง 84-10 ในเขตที่มีการระบาดของหนอนกออ้อย” นายจิรากร กล่าว
ส่วน พันธุ์อู่ทอง 84-11 เดิมชื่อ อ้อยโคลน 02-2-226 ได้จากการผสมข้ามระหว่างอ้อยพันธุ์แม่ 93-2-085 กับพันธุ์พ่อ 92-2-065 ซึ่งมีลักษณะเด่น คือถ้าปลูกในพื้นที่เขตชลประทานให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 18.24 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 30 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.67 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 30 ถ้าปลูกในเขตมีน้ำเสริมให้ผลผลิตเฉลี่ย 13.25 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 15 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 1.75 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K 84-200 ร้อยละ 18 ทั้งต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำได้ปานกลาง
"ปัจจุบันชาวไร่อ้อย จ.กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ได้สนใจหันมาปลูกอ้อยทั้ง 2 พันธุ์เพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่า 5 หมื่นไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ กรมวิชาการเกษตรจึงได้สร้างเครือข่ายเกษตรกรให้ผลิตท่อนพันธุ์ อีกทั้งกรมได้มีแผนเร่งผลิตท่อนพันธุ์อ้อยอู่ทอง 84-10 และอู่ทอง 84-11 รวมไม่น้อยกว่า 1 ล้านท่อน ไว้รองรับความต้องการของชาวไร่อ้อยด้วย"
สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 84-10 และพันธุ์อู่ทอง 84-11 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โทร.0-3555-1543