
ซามูไรอยุธยากับ111วัตถุโบราณสานสัมพันธ์100ปีไทยญี่ปุ่นที่คิวชู
ขณะที่นั่งติดตามข่าวสารภายหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว คลี่นยักษ์สึนามิ และมหัตภัยนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นมาหลายวัน หลายคนคงจะเห็นตรงกันว่าท่ามกลางความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล
ก็ยังชื่นใจที่ได้เห็นน้ำใจของมวลมนุษยชาติต่างหลั่งไหลให้ความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นไม่ขาดสาย รวมถึงคนไทยด้วย ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดตั้งแต่อดีตสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ครอบคลุมเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ทั้งระดับสถาบันกษัตริย์ รัฐบาล และประชาชน
หากจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเหตุการณ์ที่คนไทยยังพอจะนึกภาพได้ คือ การเสด็จฯ เยือนไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี เมื่อวันที่ 11-15 มิถุนายน 2549 เพื่อทรงเข้าร่วมในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการเยือนไทยเป็นครั้งที่ 2 ของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และเป็นการเสด็จฯ เยือนซ้ำประเทศที่เคยเสด็จฯ เยือนแล้วเป็นครั้งแรก
แล้วอยู่ๆ ก็ทำให้คิดถึง “ภาพทหารอาสาญี่ปุ่นรบให้ราชสำนักอยุธยา” ขึ้นมา มีอายุหลายร้อยปีจัดแสดงในห้องนิทรรศการ “งานช่างศิลปกรรมและสุนทรียภาพไทย-ญี่ปุ่น” ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะเป็นเพียงภาพเขียนโบราณเพียงแค่แผ่นเดียว แต่ในเชิงประวัติศาสตร์ก็สามารถอธิบายเรื่องราวได้มากมาย และยื่นยันชัดเจนว่าไทย และญี่ปุ่นนั้น หากมีภัยไม่เคยทิ้งกัน
โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เล่าว่า ภาพทหารอาสาญี่ปุ่นอยู่ในสมุดภาพจำลองจากวัดยม อยุธยา ภาพจิตรกรรมศิลปะอยุธยา พ.ศ.2224 คัดลอกลงสมุดไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จากหอสมุดแห่งชาติ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าสมัยอยุธยานั้นมีกลุ่มทหารญี่ปุ่นอาสามาช่วยราชสำนักไทยในการศึกสงคราม ว่ากันว่า บางส่วนเป็นอดีตซามูไรมีความรู้ในด้านอาวุธและการรบ ช่วยราชการทหารในนาม "กรมอาสาญี่ปุ่น" โดยมี ยามาดา นางามาสา (Yamada Nagamasa) เป็นหัวหน้า
ในสมุดไทยได้บรรยายไว้ว่า…ทหารญี่ปุ่นศีรษะโล้นทุกคน ถือดาบพาดไหล่ มีทหารญี่ปุ่นที่อยู่หน้าช้างเชือกแรก สวมเสื้อขาวขลิบแดงมีลายน้ำวนหลายวง ถือธงนำทหารญี่ปุ่นที่ถือดาบ 8 นาย และทหารญี่ปุ่นที่อยู่หน้าช้างเชือกที่ 2 สวมเสื้อเขียวขลิบแดงเหลือง มีลายน้ำวนสีดำที่เสื้อหลายวง ถือธงนำทหารญี่ปุ่นที่ถือดาบอีก 8 นายทหารญี่ปุ่นที่เดินตามคนถือธงทั้ง 16 นายถือดาบพาดไหล่ เหน็บฝักดาบไว้ที่เอว สวมเสื้อขาวขลิบแดง 7 นาย สวมเสื้อสีเขียวขลิบแดงเหลือง 8 นาย 1 นาย ล้วนหันหน้ามุ่งไปทางซ้าย ขณะที่มีทหารสวมหมวก นุ่งผ้าโจง ถือวัตถุแท่งยาว (ไม้พลอง) และเหน็บฝักไม้ (พลอง) ที่มีลายขาวสลับดำที่เอว นั่งคุกเข่าเรียงแถวหันหน้าไปทางขวาหรือสวนทิศทางกับแถวทหารญี่ปุ่นและนายทัพบนหลังช้าง…
“การจัดนิทรรศการครั้งที่ 1 ที่ประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเรียบร้อย มีประชาชนสนใจเข้ามาชมเป็นจำนวนมากและเตรียมไปจัดแสดงที่ญี่ปุ่นต่อ ขณะนี้ได้รับการยืนยันจากทางญี่ปุ่นแล้วว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหว ภัยคลื่นยักษ์สึนามิ และการระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่มีกระทบต่อสถานที่จัดงาน จึงมอบหมายให้นายอนันต์ ชูโชติ ผอ.สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พร้อมภัณฑรักษ์รวม 4 คนเดินทางไปร่วมจัดนิทรรศการ ครั้งที่ 2 ที่ประเทศญี่ปุ่น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ระหว่างวันที่ 12 เมษายน-5 มิถุนายนนี้ อย่างแน่นอน” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว
เนื้อหาของนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกนำเสนอจุดเริ่มต้นของสองประเทศ เริ่มจากสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนที่สองการรับวัฒนธรรมศาสนาจากภายนอกที่สำคัญคือพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดงานช่างศิลปกรรม ส่วนที่สาม แสดงถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยภาพทหารอาสาญี่ปุ่นที่นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวชู เป็นฉบับพิมพ์ใหม่เหมือนต้นฉบับสมุดไทย ขนาดเท่าของจริง จะเดินทางไปพร้อมกับโบราณวัตถุสำคัญๆ ของไทยอีก 55 รายการมูลค่ากว่า 168 ล้านบาท ไปสมทบกับโบราณวัตถุของญี่ปุ่น 56 รายการ รวมทั้งสิ้น 111 ชิ้น
โบราณวัตถุที่นำไปจัดแสดงทุกชิ้นได้มีการหารือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นว่าจะต้องมีความเชื่อมโยงกัน รวมทั้ง “ฉากกั้นหรือบังตาภาพเรือจีนและเรือตะวันตก” (นัมบัน) สมัยโมโมะยามะ พุทธศตวรรษที่ 23 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของญี่ปุ่น สันนิษฐานว่าเป็นเรือที่นำศิลปะประวัติศาสตร์จากยุโรปมาญี่ปุ่น และน่าจะเป็นเรือลำเดียวกันที่เทียบท่าที่ไทยสมัยอยุธยามาก่อน
ผกามาศ ใจฉลาด