ไลฟ์สไตล์

ลุงแจ่มระวังภัย
รับมือแผ่นดินไหว นกหวีด ไฟฉาย พร้อม

ลุงแจ่มระวังภัย รับมือแผ่นดินไหว นกหวีด ไฟฉาย พร้อม

28 มี.ค. 2554

จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่รัฐฉาน ประเทศพม่า แรงสั่นสะเทือน 6.7 ริกเตอร์ ส่งผลให้แรงสั่นสะเทือนไปทั่วภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย รวมถึงบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารสูงสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้

 ด้วยความที่ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ดินอ่อน และมีอาคารสูงจำนวนมาก หากเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และชีวิตประชาชนได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชนอย่างยิ่ง จึงได้กำชับและมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ รวมถึงขอความร่วมมือประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง
 การเตรียมตัวที่ดีในการรับมือภัยแผ่นดินไหว เพื่อช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยจัดให้มีการซักซ้อม ทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมของสมาชิกในครอบครัวและหน่วยงาน กำหนดวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว กำหนดจุดนัดพบที่ปลอดภัยนอกบ้าน
 ขณะเกิดเหตุ ให้ตั้งสติ ปิดสวิตช์ไฟหลัก ปิดถังแก๊ส หมอบกับพื้น อยู่ห่างจากสิ่งของที่อาจหล่นใส่ ล้มทับ หรือหลบใต้โต๊ะ
 สอนสมาชิกให้รู้จักวิธีตัดไฟ ปิดวาล์วน้ำ และถังแก๊ส มีการตรวจสภาพความปลอดภัยของใช้ในบ้าน ยึดอุปกรณ์กับฝาบ้านหรือเสาให้แน่น
  เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่ ไฟฉาย นกหวีด กระเป๋ายาประจำบ้าน น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูป ไว้ในจุดที่สามารถหยิบได้ง่าย อย่าวางสิ่งของที่แตกหักง่าย เช่น เครื่องแก้ว สิ่งของหนักไว้บนที่สูง
 หากอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากอาคาร ป้ายโฆษณา เสาไฟ ต้นไม้ใหญ่ ส่วนผู้ที่อยู่ในตึกสูงที่เป็นอาคารเก่าและไม่มั่นคง ให้หาทางออกจากอาคารโดยเร็วอย่างมีสติ ไม่เบียดเสียด ยื้อแย่งจนชุลมุน และห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด
 เมื่อติดอยู่ในซากอาคาร ให้ส่งสัญญาณการช่วยชีวิต อาทิ ใช้นกหวีด เคาะท่อ ฝาผนัง อย่าตะโกน เพราะการตะโกนอาจสูดสารพิษ หรือสิ่งอันตรายเข้าสู่ร่างกาย จนทำให้เกิดความอ่อนล้าได้

นายยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง
ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.