
การออกแบบเพื่อความสำเร็จ และการกำหนดแนวความคิด
การออกแบบในปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพียงแค่การกำหนดรูปแบบสวยงาม กำหนดสีสันแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น แต่การออกแบบจะต้องคลอบคลุมถึงการออกแบบเพื่อความสำเร็จทางการตลาดด้วย การออกแบบกิจกรรมเพื่อธุรกิจ
การเข้าถึงลูกค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนภาพลักษณ์ขององค์กรในอนาคตด้วยกลยุทธ์ด้านการออกแบบอย่างครบวงจร ผู้ออกแบบที่ดีจึงจำเป็นต้องรอบรู้หลายศาสตร์ ไม่ใช่เพียงแค่รอบรู้ศาสตร์ด้านศิลปะและการออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องค้นคว้าลงลึกในแต่ละโครงการที่ทำการออกแบบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ดังตัวอย่างของกระบวนการออกแบบที่นำไปใช้ในการพัฒนาองค์กรสู่ความสำเร็จดังนี้ครับ
1. การหาข้อมูลจากพฤติกรรมผู้ใช้งาน, ลูกค้าขององค์กร, ธุรกิจ, ร้านค้า
ข้อมูลในการออกแบบที่ใช้ เช่น ความพึงพอใจของคนต่อพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ การเดินทางเข้ามาสู่ร้านค้า ความสะดวกสบาย มุมมองของคนที่ใช้งานต่อพื้นที่ การใช้งานย่อย เช่น การเอื้อมหยิบ การนั่ง การเดิน ซึ่งเราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นสถิติออกมาจากกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงกับธุรกิจเรา โดยใช้วิธีสุ่มกรณีตัวอย่าง, หาข้อมูลทางสถิติหรือผลงานวิจัยที่มีอยู่แล้วจากนั้นนำมาใช้ในการจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ กำหนดตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่, เฟอร์นิเจอร์, กำหนดขนาดห้อง วางผังภาพรวมของโครงการทั้งหมด
2. การวางแนวความคิดต้นแบบ
ทิศทางเป้าหมายขององค์กรในยุคปัจจุบัน นอกจากจะต้องวางแผนด้านการตลาดวางแผนด้านการบริหารจัดการอย่างเข้มแข็งแล้วนั้น แต่การออกแบบความสำเร็จเอาไว้ก่อนล่วงหน้ากลับเป็นสิ่งที่ทุกคนละเลย แท้ที่จริงแล้วการออกแบบมีประโยชน์มากต่อองค์กร ร้านค้า ที่ถึงแม้ว่าในปัจจุบันและระยะใกล้นี้ยังเป็นไปได้ยาก แต่การวางแนวคิดต้นแบบเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เช่น ถ้าร้านคุณมีแนวทางจะเปิดหลายสาขา ควรมีการกำหนดแนวคิดหลักเบื้องต้นเอาไว้ก่อน โดยออกแบบกราฟิกของร้านเอาไว้อย่างสวยงาม ตั้งแต่โลโก้ แผ่นพับ โบว์ชัวร์ ไปจนถึงการสร้างโมเดลจำลอง ด้วยภาพ 3 มิติ หรือโมเดลย่อเสมือนจริงก็ได้
การออกแบบอนาคตเอาไว้ก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานองค์กรให้มีเป้าหมายไปด้วยกันทั้งหมด อีกทั้งการออกแบบจำลองอนาคตเป็นการควบคุมไม่ให้นโยบาย แนวคิดผิดเพี้ยนเบี่ยงประเด็นไปจากอุดมการณ์แรก เพื่อความเป็นเอกภาพนั่นเอง
3. การใช้หลักคิดด้านการออกแบบในการบริหารจัดการ
ในการบริหารจัดการองค์กรร้านค้าต่างๆ แต่ละที่ย่อมมีแนวทางต่างกัน แต่แนวทางที่จะเสนอแนะต่อไปนี้คือการนำความคิดแง่มุมด้านการออกแบบไปใช้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจในอนาคต หลักคิดด้านการออกแบบต่างกับแนวคิดอื่นๆ ตรงที่มองความคิดสร้างสรรค์เป็นที่ตั้งมากกว่ามองผลด้านการขายเพียงอย่างเดียว กล่าวคือ ความพยายามที่จะออกแบบให้ดีที่สุด เพื่อผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและมีคุณภาพที่สุด สร้างมูลค่าด้วยการออกแบบ วางแผนธุรกิจด้วยการสเก็ตร่างภาพบนกระดาษ ออกแบบกิจกรรมการให้บริการอย่างสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบใคร มีแนวทางเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน มีภาพหลักของธุรกิจทั้งนามธรรมและรูปธรรม มีมุมมองด้านความงามและรสนิยม
4. พัฒนาธุรกิจโดยใช้มุมมองด้านการออกแบบเพื่ออนาคต
หลักคิดด้านการออกแบบยังสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจร้านค้าให้ยั่งยืนได้ โดยมีองค์ประกอบคือ
1. ต้องดีที่สุด มีคุณภาพที่สุด
2. ต้องงดงามที่สุด
3. ต้องมีประโยชน์ที่สุด
4. ต้องมีคุณค่าที่สุด
เช่น ถ้าคุณเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว นอกจากอร่อย มีคุณภาพ มีความสะอาดแล้ว ก็จะต้องมีความสวยงามในทุกส่วนทั้งภาชนะและบรรยากาศร้าน อีกทั้งมีประโยชน์ด้านโภชนาการ มีคุณค่าจนกลายเป็นต้นแบบที่ทุกคนเลือกมาเป็นแบบอย่าง เป็นกรณีศึกษา เป็นต้น
การกำหนดแนวความคิด
หลักการออกแบบที่ดีมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมานักต่อนัก การวางแผนให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองจึงต้องอาศัยหลักคิดทุกด้าน โดยเฉพาะในปัจจุบันการแข่งขันไอเดีย ประลองความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ มูลค่าสินค้าบางอย่าง ต้นทุนเพียงเล็กน้อยแต่พอบวกเข้ากับไอเดียด้านการออกแบบ มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัวจากชิ้นวัสดุชิ้นหนึ่ง เติมความคิดและมันสมองเข้าไปอาจจะเกิดเป็นผลงานที่มีมูลค่าและพลังต่อสังคม บางชิ้นอาจกลายเป็นของล้ำค่าที่ทุกคนอยากได้มาเป็นเจ้าของแต่จากชิ้นวัสดุชิ้นหนึ่ง ไม่ได้เติมความคิด มีแต่เพียงฝีมือ หรือขายตัววัสดุมันเอง มูลค่าอาจจะตกต่ำหรือลดน้อยกว่ามูลค่าจริงของวัสดุด้วยซ้ำไป ก็แปลว่าทุกเส้นสายของการออกแบบ สามารถขีดเขียนให้เป็นทองคำหรือเป็นขยะก็เป็นไปได้ อยู่ที่การใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปมากน้อยเพียงใด
หลักการออกแบบก็ไม่ใช่เพียงแต่ความงดงามอย่างเดียว แต่หมายถึงการจัดระบบทางกายภาพอย่างสมดุลทุกเรื่อง โดยสอดคล้องกับนโยบาย วิสัยทัศน์ของแต่ละร้าน แต่ละองค์กร ดังองค์ประกอบต่อไปนี้ครับ
1.ที่ตั้ง ชัยภูมิ ทำเล
ผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลจะต้องมองที่ตั้งให้ทะลุปรุโปร่ง เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมต่อร้านเรา เช่น การเดินทางเข้าออก ถนนหนทาง มุมมองระหว่างทางสัญจร เพื่อนบ้านในระยะ 10 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร รอบทิศ 360 องศา ขยายออกไปจนถึงชุมชน เขต อำเภอ จังหวัด ว่าที่ตั้งเรามีจุดขายอะไร ลูกค้าเข้าถึงได้อย่างไร เอกลักษณ์ที่อิงสังคม อิงวัฒนธรรมที่เราสามารถดึงมาใช้ได้
สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เป็นอย่างไร เพื่อกำหนดทิศทางอาคาร หรือถ้าโดนกำหนดไปแล้วจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมให้ได้ทิศทางที่ดีขึ้นอย่างไร
ลักษณะที่ตั้งจะในห้างสรรพสินค้าหรืออาคารเดี่ยว, อาคารพาณิชย์ ต้องสำรวจตรวจสอบดูอย่างครบถ้วนว่ามีผลกับยอดขายมากน้อยแค่ไหน โดยการหาข้อมูลสถิติจากร้านอื่นหรือข้อมูลทำเลเดิมอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน แล้วนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกทำเล ตลอดจนถึงการมองไปในอนาคตว่าที่ตั้งเป็นชัยภูมิที่โตหรือขยายศักยภาพได้แค่ไหน คุ้มหรือไม่กับการลงทุน
2.กำหนดแนวคิดภาพรวม
ก่อนลงรายละเอียดควรวางกรอบความคิดระดับกว้างครอบคลุมเสียก่อนจะได้ไม่เขว แล้วค่อยๆ เรียงร้อยทีละส่วนตามลำดับความสำคัญ หลักการออกแบบเรียกว่า “องค์รวม” สังเกตได้ว่างานออกแบบที่ไม่มีคุณภาพมักจะมองทีละจุด แต่พอปะติดปะต่อเข้าด้วยกันไม่งดงาม หัวมังกุท้ายมังกร ดังนั้นการวางภาพรวมเปรียบเสมือนการสร้างทิศทางที่แม่นยำ การสร้างความเป็นเอกภาพที่มีหลักยึด เดินหน้าอย่างมีพลัง การกำหนดแนวคิด ภาพรวมของการออกแบบเป็นการสร้างมาตรฐานที่สอดคล้องกัน เสมือนเป็นการทำงานของทุกอวัยวะที่สอดประสานกันอย่างลงตัว ไม่มีส่วนเกิน
3.การเรียงลำดับการออกแบบ
การวางแผนก่อนหลังอย่างเหมาะสม อะไรที่ควรเริ่มจัดก่อนเป็นหลัก อะไรเป็นตัวรอง อะไรเป็นตัวส่งเสริม ไม่ใช่แย่งกันเด่นแย่งกันสวย แต่อยู่ด้วยกันแล้วไม่เหมาะสม มีการวางภาพรวมที่มีสัดส่วนตามความสำคัญ หลังจากได้แนวความคิดที่ดีแล้วจึงกำหนดผัง โดยวางผังพื้นที่ภายในอาคารตามวัตถุประสงค์, การเรียงลำดับการใช้งาน, การกำหนดขนาดพื้นที่ตามสัดส่วนการใช้งาน, การวางผังเพื่อประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด ไปจนถึงการทดลองจากผังตัวอย่างแล้วหาข้อบกพร่องจนแก้ไขได้โดยทำให้การใช้งานมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด
4.การดำเนินงานออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการทำงานที่มีคุณภาพ
ขั้นตอนของการออกแบบจะต้องได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบมาตรฐานทุกขั้นตอน การออกแบบต้องช่วยทำให้ขั้นตอนง่ายขึ้น ไม่ใช่ทำให้เกิดความยุ่งยาก การออกแบบต้องช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา แต่ถึงแม้จะมีปัญหาความยุ่งยาก การออกแบบต้องมีทางออกได้เสมอ
5.การออกแบบต้องช่วยให้เกิดผลสำเร็จในเวลาที่กำหนด
การออกแบบต้องช่วยให้การผลิตมีระบบ สร้างกรอบกติกาที่ทำให้ขั้นตอนการผลิต, ก่อสร้างมีมาตรฐาน และเสร็จตามกำหนด มีความละเอียด มองทะลุถึงปัญหาแล้วแก้ไขสถานการณ์ได้ โดยขึ้นอยู่กับการวางแผนอย่างรอบคอบ รัดกุม โดยมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ ความรู้ และจรรยาบรรณ
6.มีการประเมินผล
จากผลงานออกแบบและออกมาเป็นผลงานจริง จะต้องสำรวจประเมินดูว่าตรงกับวัตถุประสงค์มากแค่ไหน หรือมีการปรับ ประยุกต์ พัฒนาแบบดีขึ้นเพียงใด มีจุดบอด จุดบกพร่องที่สามารถนำมาแก้ไขได้ในอนาคต เพื่อให้ผลงานมีคุณภาพสูงขึ้นโดยตลอด ถ่อมใจฟังข้อวิจารณ์แล้วเดินหน้าอย่างมีกำลัง
สำหรับผู้ลงทุนทุกท่านสามารถเข้าร่วมฟังการบรรยายและเวิร์คชอป ในงานสัมมนา หัวข้อ “พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส” ตอน “สร้างสรรค์ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ทแนวใหม่แห่งอนาคต” ในระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2554 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร 0-2984-0091-2 หรือ 08-6331-7433 แล้วพบกันครับ
อ. เอกพงษ์ ตรีตรง
www.ideal1group.com